เส้นทางของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์

จุดกำเนิดของแฮร์รี่ พอตเตอร์

มิถุนายน 1990 โจแอนน์ หญิงสาววัย 25 ปี ผู้มีดวงตาสีฟ้าและผมสีแดงเข้ม อาศัยอยู่กับแฟนหนุ่มที่แมนเชสเตอร์ ในวันอาทิตย์สุดสัปดาห์นั้นเธอเดินทางกลับไปลอนดอนด้วยรถไฟที่สถานีแมนเชสเตอร์พิคคาดิลลี (Manchester Piccadilly station) เธอไม่ล่วงรู้เลยว่ากำลังจะมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในวันนั้นและจะพาชีวิตเธอเปลี่ยนไปตลอดกาล

ในบ่ายวันนั้นสถานีแน่นขนัดไปด้วยผู้คน เนื่องจากปัญหาขัดข้องทางเครื่องยนต์ ทำให้รถไฟที่เธอเลือกเดินทางที่มีผู้โดยสารอยู่เต็ม ถึงที่หมายล่าช้ากว่ากำหนดไป 4 ชั่วโมง ถ้าไม่มีเหตุขัดข้องในตอนนั้นเราก็คงไม่ได้อ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ ขณะที่รถไฟเกิดเหตุขัดข้อง ผู้โดยสารรายอื่นเริ่มโวยวายและหงุดหงิด โจมองออกไปนอกหน้าต่าง และจ้องมองวัวที่อยู่ด้านนอก แล้วความคิดหนึ่งก็แล่นเข้ามาในสมองของเธอ “เด็กชายที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นพ่อมด เขาจะต้องเดินทางไปโรงเรียนเวทมนตร์” เธอพยายามถามตัวเองว่าเพราะอะไรเด็กชายคนนี้ถึงไม่รู้ความสามารถที่พิเศษแตกต่างของตัวเอง เธอให้คำตอบนั้นว่า “ครอบครัวเด็กชายเสียชีวิต”

“ฉันกำลังคิดว่าจะเขียนยังไง แล้วไอเดียมากมายก็พรั่งพรูออกมา ฉันเห็นภาพแฮร์รี่ชัดเจนมาก เขาเป็นเด็กชายตัวเล็กที่ผอมบาง มันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ฉันไม่เคยรู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่ทำขนาดนี้มาก่อน ฉันไม่เคยให้ความคิดที่เกิดขึ้นตอบสนองกับฉันเฉยๆ ฉันพยายามจะจดบันทึกสิ่งเหล่านั้น ฉันเลยค้นในกระเป๋ามองหาปากกา ดินสอ หรืออะไรสักอย่างที่เอามาจดได้ แต่ไม่มีแม้กระทั่งอายไลเนอร์ของฉันเอง ฉันตัดสินใจนั่งลงแล้วคิด ตลอด 4 ชั่วโมงที่รถไฟล่าช้า ฉันก็มีไอเดียมากมายผุดขึ้นในหัวเต็มไปหมด”

เมื่อรถไฟสิ้นสุดลงที่สถานียุสตัน แนวคิดมากมายที่เธอจดจำขณะอยู่บนรถไฟยังคงอยู่ครบถ้วน เธอเดินทางต่อไปที่แฟลตของแคลพแพมในแบตเตอร์ซี และเริ่มต้นเขียนข้อมูลตลอดทั้งคืน ความคิดหลักพร้อมแล้วในหัวของเธอ เธอจรดปากกาลงบนกระดาษแล้วเริ่มต้นเขียนบทที่ 1 อะไรที่ เจ.เค.โรว์ลิ่งเขียนในคืนนั้น ไม่เคยถูกนำมาเปิดเผย ซึ่งความจริงแล้วบทแรกที่เราได้อ่านนั้นถูกเขียนแล้วเขียนอีกถึง 15 ครั้งก่อนจะเป็นบทที่เราได้อ่านกัน

หนึ่งเดือนต่อมา ไม่ใช่เรื่องง่ายเอาซะเลย เพราะแฟนหนุ่มของเธอเกลี้ยกล่อมให้โจกลับแมนเชสเตอร์ ณ ที่นั้นเธอพับงานเขียนของตัวเองเก็บไว้ ตลอดเวลาเต็มไปด้วยอุปสรรคขัดขวางการเสกสร้างโลกของแฮร์รี่ แต่ก็ทำให้เกิดการเดินทางของพ่อมดด้วยรถไฟสายด่วนฮอกวอตส์

เรื่องราวเบื้องหลังชานชาลาที่ 9 3/4 เกิดขึ้นจากความทรงจำที่พ่อแม่ของเธอ ปีเตอร์และแอนน์ พบกันที่สถานีรถไฟคิงส์ครอส มันเป็นความทรงจำที่เกิดขึ้นสมัยเธอเป็นเด็ก และเพราะความผิดพลาดเธอจดจำภาพของสถานียุสตันสลับกับคิงส์ครอส ไม่ว่าจะด้วยความบังเอิญหรือไม่ สถานียุสตันทำให้เธอได้พบกับเด็กชายชื่อ แฮร์รี่ พอตเตอร์

การกลับไปเยี่ยมแม่ที่ป่วยหนักด้วยโรคปลอกประสาทอักเสบ (Multiple Sclerosis) ของเธอในช่วงคริสต์มาส และอยู่ดูแลกระทั่งแอนน์เสียชีวิตลงในปลายปี ก็ทำให้เรื่องราวในหนังสือของเธอเปลี่ยนไป เธอให้ความสำคัญกับการเสียชีวิตของพ่อแม่แฮร์รี่มากขึ้น และกำเนิดกระจกเงาแห่งแอริเซดขึ้นมา ช่วงเวลาที่แฮร์รี่ พอตเตอร์ พบกับกระจกเงาแห่งแอริเซดเป็นครั้งแรก เป็นช่วงเวลาที่เธอประทับใจมากที่สุดในหนังสือ ด้วยเหตุผลเดียวกันกับแฮร์รี่ “เธอคิดถึงครอบครัวของเธอที่จากไป”

กันยายน 1991 ขณะที่เธอเดินทางด้วยเครื่องบินเพื่อย้ายไปยังเมืองโอปอร์โต (Oporto) หลังเลิกกับแฟนหนุ่ม เธอก็ได้ชื่อบ้านทั้งสี่หลังของฮอกวอตส์ ทั้ง กริฟฟินดอร์, ฮัฟเฟิลพัฟ, เรเวนคลอ และสลิธีริน ชื่อเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นเป็นครั้งแรกด้านหลังของถุงอาเจียนของเครื่องบิน

ที่โอปอร์โตเธออาศัยอยู่กับ อาน ไคลี (Aine Kiely) และจิลล์ เพรอเว็ต (Jill Prewett) เจ.เค.โรว์ลิ่งเขียนเสร็จไปแล้ว 3 บท โดยอาศัยร้านมาเจสติก คาเฟ่ (Majestic Café) เป็นที่เขียนหนังสือที่แรก

1992 โจพบรักกับจอร์จ อรันทุส (Jorge Arantes) ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ชาวโปรตุเกส และในวันที่ 16 ตุลาคม 1992 ทั้งสองก็แต่งงานกัน และมีลูกสาวด้วยกัน 1 คนชื่อ เจสซิกา แต่ชีวิตคู่ของพวกเขาไปได้ไม่สวยนัก หลังการทะเลาะอย่างรุนแรงกับสามีของเธอ โจตัดสินใจพาเจสซิกาลูกสาวเดินทางไปยังเอดินบะระในเดือนธันวาคม 1993 โดยขออาศัยอยู่กับไดน้องสาวที่ทำงานเป็นพยาบาล และโรเจอร์สามีของน้องสาว

หลังจากที่ใช้เวลาเขียนมานานถึง 3 ปี ในวันที่ 9 มกราคม 1994 โจรวบรวมความกล้าแล้วยื่นสามบทแรกให้ไดแอนน์อ่าน ไดเป็นคนแรกที่ได้อ่านฉบับร่างของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ไดชอบในเรื่องราวที่เธอเขียนและสนับสนุนให้เธอลงมือเขียนต่อ และนั่นนำไปสู่ความเชื่อมั่นในสิ่งที่เธอกำลังทำ

แต่เพราะไม่อยากเป็นภาระให้น้องสาว โจตัดสินใจรับเงินสังคมสงเคราะห์ ซึ่งได้รับเพียงสัปดาห์ละ 69 ปอนด์ และแยกตัวออกมาอยู่ในแฟลตเล็กๆ กับลูกสาวตัวน้อยของเธอ ตามที่ได้จากความช่วยเหลือสวัสดิการสังคม มันไม่มีทั้งเครื่องทำความร้อน แถมยังมีหนูเต็มไปหมด ด้วยสภาพที่ยากลำบากน่าอดสู เธอจึงตัดสินใจไปพึ่งเพื่อนของเธอ ฌอน แฮริส (Sean Harris) (ผู้เป็นต้นแบบให้กับรอน วีสลีย์ และเป็นเจ้าของรถฟอร์ดแลงเกลียสีเขียวอมฟ้า) เขาให้เธอยืมเงินจำนวน 600 ปอนด์ เพื่อย้ายไปอยู่ในแฟลตแห่งใหม่ คือ แฟลตลีท (Leith) มันไม่ได้สุขสบายและใหญ่โตอะไร (เธอเขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มแรกจบที่นี่)

leith

แฟลตลีท (Leith) ในเอดินบะระ

ในช่วงหน้าร้อนปี 1994 โรเจอร์น้องเขยของเธอตัดสินใจซื้อร้านนิโคลสันส์ (Nicolson’s) ซึ่งเป็นคาเฟ่ย่านใจกลางเมือง ซึ่งห่างจากที่เธออาศัยเพียง 15 ช่วงตึก โรเจอร์ยินดีให้เธอใช้ร้านเขียนหนังสือ เธอจะนั่งอยู่ที่โต๊ะริมหน้าต่างที่ประจำของเธอ โดยมีลูกสาวหลับอยู่ข้างๆ โจสามารถเขียนหนังสือได้นานๆ ด้วยการจ่ายค่าเอสเปรสโซ่เพียงถ้วยเดียว ทุกคนในนิโคลสันส์รู้จักเธอหมด

ต่อมาร้านนิโคลสันส์ของน้องเขยก็เปลี่ยนเป็นภัตตาคารอาหารจีนชื่อบุฟเฟต์คิง (Buffet King) [อ้างอิง] ภายหลังแบ่งพื้นที่ชั้นล่างให้กับมอยรา แมคฟาร์เลน (Moira McFarlane) ซึ่งเธอจัดสรรพื้นที่ด้านล่างเป็นร้านสพูนคาเฟ่ (Spoon Cafe) ก่อนเจ้าของเก่าเอ็ดดี้ อิง (Eddie Ng) จะนำไปขายทอดตลาดในเดือนมกราคม 2009 เขาเสนอขายให้ เจ.เค.โรว์ลิ่งในราคา 1 ล้าน แต่เธอปฏิเสธ มอยราและสามีจึงเข้ามาซื้อกิจการ ภายใต้ชื่อ สพูนคาเฟ่บิสโทร (Spoon Cafe Bistro) [อ้างอิง] ปัจจุบันร้านแห่งนี้เปลี่ยนชื่อใหม่เหลือเพียงคำว่า สพูน (Spoon)

คาเฟ่อีกแห่งที่โจนิยมไปนั่งเขียนหนังสือคือ ดิเอลิแฟนต์เฮาส์ (The Elephant House) ที่ภายหลังเป็นที่รู้จักในชื่อของ “สถานที่ให้กำเนิดแฮร์รี่ พอตเตอร์” สถานที่ยอดฮิตของแฟนๆ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทั่วทุกมุมโลกที่ถ้าไปเอดินบะระ ต้องไม่ลืมที่จะแวะไปที่นี่ คุณจะพบกลิ่นอายของแฮร์รี่ พอตเตอร์ มากมาย ตั้งแต่ทางเข้าร้าน เรื่อยไปจนถึงห้องน้ำ!

elephanthouse

ห้องน้ำของ The Elephant House กลายเป็นจุดเด่นของทางร้าน ที่อนุญาตให้แฟนคลับแฮร์รี่ พอตเตอร์ เขียนเต็มห้องน้ำได้ตามสบาย

กว่าจะได้ตีพิมพ์ Harry Potter and the Philosopher’s Stone

เจ.เค.โรว์ลิ่ง เขียนหนังสือ Harry Potter and the Philosopher’s Stone หรือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ เสร็จสิ้นในเดือนสิงหาคมปี 1995 เธอใช้เวลาในการตรวจทานและขัดเกลาเนื้อหาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตีพิมพ์ถึง 6 เดือน

ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1996 เจ.เค.โรว์ลิ่งเดินทางไปร่วมงาน The Writers and Artists Year Book ที่ Central Library ของเอดินบะระ (เมืองหลวงของสกอตแลนด์) เพื่อส่งสามบทแรกของหนังสือให้แก่ตัวแทนวรรณกรรมที่ไปร่วมในงานนั้น

“ฉันถ่ายสำเนาของบทพวกนั้นได้แค่ 2 ฉบับ และซื้อแฟ้มพลาสติกใส่สำเนาพวกนั้นเพื่อให้มันดูเรียบร้อยพอที่จะส่งให้ เพราะรู้ว่าพวกเขาจะต้องตีกลับมา และเพราะฉันไม่ได้คาดหวังว่ามันจะได้ตีพิมพ์ แต่ฉันก็อยากลองสักตั้ง” ตัวแทนรายแรกที่ฉันส่งไป ตอบกลับมาว่า “ขอโทษด้วย ตอนนี้ลูกค้าของเราเต็มหมดแล้ว ป.ล.แฟ้มที่คุณส่งมาไม่ได้แนบกลับมาในจดหมาย” ฉันรู้สึกโกรธมาก แล้วอยากเขียนตอบกลับไปในจดหมายว่า “คุณเป็นหนี้ฉันอยู่ 5 ปอนด์!”

“ตัวแทนส่งต้นฉบับกลับมาให้ ฉันผิดหวังที่ไม่มีแฟ้มกลับมาด้วย เพราะทั้งหมดนั้นมีค่าใช้จ่าย 7 ดอลลาร์ แถมบอกว่าคำ 80,000 คำมันมากเกินไปสำหรับหนังสือเด็ก”

ตัวแทนรายถัดมา คือ ไบรโอนี่ เอฟเวนส์ (Bryony Evens) ที่ควรปฏิเสธหนังสือเด็กที่พวกเขาไม่มีแผนจะจัดพิมพ์ แต่กลับเปิดซองจดหมาย สังเกตเห็นความไม่ธรรมดาของแฟ้มสีดำ และเริ่มต้นอ่านบทแรก เธอเพลิดเพลินกับสไตล์และเห็นความสนุกจากมัน เธอส่งต่อมันให้กับ เฟลอร์ ฮาวล์ (Fleur Howle) นักอ่านอิสระ เขาอ่านมันในตอนเช้าและเห็นด้วยกับการประเมินค่าของไบรโอนี่ เอฟเวนส์อ่านมันต่อในระหว่างทานอาหารกลางวัน และขออนุญาตคริสโตเฟอร์ ลิตเติ้ล (Christopher Little) ในการขอรับส่วนที่เหลือ ไม่กี่วันหลังจากนั้น โรว์ลิ่งก็ได้รับจดหมายที่ขอให้เธอส่งต้นฉบับที่เหลือไปให้ เธอส่งมันไปให้พร้อมๆ กับภาพวาดที่เธอวาดขึ้นเอง เพราะคิดว่างานของเธอเป็นภาพประกอบสำหรับหนังสือเด็กได้

bryonyevans

ไบรโอนี่ เอฟเวนส์ กล่าวว่า

“ฉันเขียนจดหมายกลับไปหา เจ.เค.โรว์ลิ่ง ในสี่วันหลังจากได้รับต้นฉบับ ฉันเห็นว่ามันเป็นอะไรที่พิเศษจริงๆ แม้เราจะเดาไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับมันต่อจากนี้”

หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จนจบและตกหลุมรักเข้าเต็มเปา ไบรโอนี่ก็ขอให้ คริสโตเฟอร์ ลิตเติ้ล รับหนังสือนี้ไว้ในพิจารณา เขานำมันกลับไปอ่านตลอดทั้งคืน และมีข้อเสนอแนะบางอย่างให้โจนำไปพัฒนาก่อนการส่งให้ทางสำนักพิมพ์ ไบรโอนี่ขอให้โจเพิ่มเติมในส่วนของเนวิลล์ เพราะเห็นว่าเป็นตัวละครที่มีความสำคัญน้อยมากๆ ในแบบร่างแรกของหนังสือ และคริสโตเฟอร์ ขอให้เธอแก้ไขรายละเอียดของควิดดิช เขาขอให้เธอเพิ่มกฎเกี่ยวกับการแข่งขันลงไป ซึ่งเป็นเรื่องง่ายมากสำหรับโจ เพราะเธอได้วางแผนเกี่ยวกับกฎกติกาทั้งหมดไว้อยู่แล้ว นอกเหนือจากนี้ เล่มต้นฉบับและฉบับปรับปรุงก็เหมือนกันเกือบทุกประการ

ไบรโอนี่ เอฟเวนส์ เป็นผู้มอบโอกาสให้ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้ประสบความสำเร็จจนถึงปัจจุบัน ถ้าไม่ใช่เพราะเธอ แฮร์รี่ พอตเตอร์ คงเป็นแค่หนังสือที่ เจ.เค.โรว์ลิ่ง ให้เพื่อนและคนในครอบครัวอ่านเท่านั้น และในปี 2000 เจ.เค.โรว์ลิ่งก็ได้มอบคำขอบคุณให้แก่ไบรโอนี่

bryonyevens
(ภาพจาก The Harry Potter Journey : The making of Harry Potter)

“แด่นักต่อสู้เพื่อแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่สำคัญอย่างใหญ่หลวง”
“แด่ไบรโอนี่ ผู้ค้นพบ แฮรรี่ พอตเตอร์ อย่างแท้จริง”

 หนึ่งปีหลังจากที่ เจ.เค.โรว์ลิ่ง เขียนหนังสือเล่มแรกเสร็จ ตัวแทนวรรณกรรมของเธอก็เริ่มต้นตามล่าหาสำนักพิมพ์ที่จะตีพิมพ์หนังสือ Harry Potter and the Philosopher’s Stone หรือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ ให้เธอ ไบรโอนี่จัดทำสำเนาจากต้นฉบับแฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มแรกขึ้นมา 3 ฉบับ และจัดส่งให้สำนักพิมพ์พิจารณา แต่เพราะมันไม่ใช่บริษัทตัวแทนที่ได้สิทธิพิเศษอะไร เธอจึงต้องรอให้ทางสำนักพิมพ์เปิดอ่านและตีกลับมาจึงจะสามารถส่งให้สำนักพิมพ์อื่นๆ เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย สำนักพิมพ์ 12 แห่ง รวมทั้ง Transworld, Penguin และ Orion ปฏิเสธหนังสือเล่มนี้ ก่อนที่คริสโตเฟอร์จะส่งสำเนาของหนังสือไปให้ทางแบร์รี่ คันนิ่งแฮม (Barry Cunningham) ของสำนักพิมพ์บลูมส์บิวรี (Bloomsbury) และเขาตกลงรับตีพิมพ์ Harry Potter and the Philosopher’s Stone ในเดือนตุลาคม ปี 1996 ด้วยเงิน 2,500 ปอนด์ ตามนโยบายของ Bloomberg Business Magazine ซึ่งเจ.เค.โรว์ลิ่งจะได้รับเงินตอบแทนในฐานะนักเขียนหน้าใหม่ของสำนักพิมพ์ที่ 1,500 ปอนด์

ในเดือนเมษายน ฝ่ายการตลาดของบลูมส์บิวรี ก็ติดต่อผ่านทางคริสโตเฟอร์ ลิตเติ้ล เพื่อขอให้คุยกับโจเรื่องชื่อที่เธอใช้ เพราะพวกเขามองว่าชื่อเต็มของเธอไม่น่าสนใจ และอยากให้เป็นชื่อที่ดึงดูดใจได้ทั้งเด็กผู้ชายและผู้หญิง เด็กผู้ชายอาจรู้สึกไม่อยากอ่านถ้าชื่อผู้แต่งเป็นผู้หญิง เลยเสนอให้เธอใช้ชื่อย่อแทน เธอตัดสินใจนำชื่อ “แคธลีน (Kathleen)” ซึ่งเป็นชื่อย่าที่เธอรักมาใช้เป็นชื่อกลาง ว่า J.K.Rowling

พฤษภาคม 1997 สำนักพิมพ์บลูมส์บิวรี ตีพิมพ์หนังสือ Bloomsbury Autumn Highlights ขึ้นเพื่อนำเสนอ 25 ผลงานของนักเขียน ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เนื้อหาจากหนังสือ Harry Potter and the Philosopher’s Stone ได้รับการเผยแพร่เป็นจำนวนทั้งสิ้น 14 หน้า ขณะเดียวกันก็มีการจัดทำหนังสือ Harry Potter and the Philosopher’s Stone ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นฉบับที่ยังไม่ได้แก้ไขปรับปรุงจนแล้วเสร็จ โดยแจกจ่ายให้แก่นักวิจารณ์ สื่อมวลชน ผู้คนในวงการวรรณกรรม และบรรดาเพื่อนของนักเขียนเอง จำนวน 200 ฉบับ ในลักษณะของหนังสือที่ไม่มีภาพและเป็นหน้าปกขาวๆ กับข้อความว่า Harry Potter and the Philosopher’s Stone พร้อมกับชื่อผู้เขียน “J.A.Rowling” ที่เป็นความผิดพลาดในการจัดพิมพ์ ซึ่งในโน้ตของสำนักพิมพ์เพิ่มเติมว่าผู้เขียนชื่อ โจแอนนา โรว์ลิ่ง แทนที่จะเป็น โจแอนน์ โรว์ลิ่ง (Joanne Rowling)

ey876-1_2

ซึ่งหนังสือชุดนี้ได้รับการนำประมูลในราคาประมาณ 2,000 – 3,000 ปอนด์ เพราะกลายเป็นของหายากที่บรรดานักสะสมกระเป๋าหนักอยากครอบครองด้วยกันทั้งนั้น

26 มิถุนายน 1997 หนังสือ Harry Potter and the Philosopher’s Stone จัดจำหน่ายขึ้นเป็นครั้งแรกบนโลก โดยไม่มีกระแสใดๆ ร้านหนังสือบางแห่งเริ่มจำหน่ายหนังสือเล่มนี้ ทว่าวันที่หนังสือ Harry Potter and the Philosopher’s Stone ได้รับกระแสความนิยมคือวันที่ 30 มิถุนายน 1997 บางคนถือเอาวันนี้เป็นวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการในสหราชอาณาจักร โดยสำนักพิมพ์บลูมส์บิวรี

ซึ่งปก Harry Potter and the Philosopher’s Stone ชุดแรกที่จัดจำหน่าย วาดโดย Thomas Taylor ด้วยเทคนิคสีน้ำ ซึ่งก็ทำให้เกิดกระแสความสงสัยมากมายเกี่ยวกับพ่อมดหลังปกเวอร์ชั่นแรก ว่าพ่อมดปริศนาคนนี้เป็นใครกันแน่ มีการสันนิษฐานว่าเป็นดัมเบิลดอร์วัยหนุ่มบ้าง นิโคลัส แฟลมเมลบ้าง แต่คำตอบที่ถูกต้องที่สุดก็คือ “พ่อมดธรรมดาทั่วไป ที่ผู้วาดได้แรงบันดาลใจมาจากพ่อของเขาเอง” ก่อนจะเปลี่ยนเป็นดัมเบิลดอร์ตามคำขอของสำนักพิมพ์ และกระแสของแฟนคลับ

ในวันจำหน่ายวันแรก 26 มิถุนายน 1997 หนังสือ Harry Potter and the Philosopher’s Stone จัดจำหน่าย 500 เล่มในฉบับปกแข็งให้กับห้องสมุดสาธารณะ และจำหน่ายปกอ่อนอีก 5,150 เล่ม ให้กับร้านหนังสือทั่วไป ซึ่งทั้งปกอ่อนและแข็งนั้นตีพิมพ์แล้วเสร็จและจัดจำหน่ายพร้อมกัน ไม่ได้แบ่งเป็น 300 และ 200 อย่างที่เข้าใจผิดมา (J.K.Rowling: A Bibliography, Philip W. Errington)

เจ.เค.โรว์ลิ่งออกเดินทางไปทั่วเอดินบะระด้วยความตื่นเต้นดีใจ เธอชี้ให้ลูกสาวของเธอดูหนังสือที่อ่านว่า “แฮร์รี่” และ “พอตเตอร์”

เพียง 1 สัปดาห์หลังจากนั้น Harry Potter and the Philosopher’s Stone ก็ขายหมดเกลี้ยง และได้รับการจัดพิมพ์เพิ่มเป็นครั้งที่ 2

ในปลายปี 1997 หนังสือก็ได้รับรางวัลถึง 3 รางวัล คือรางวัลเหรียญทองจาก Nestlé Smarties Book Prize จากหมวดหนังสือสำหรับเด็ก 9 – 11 ปี ในเดือนพฤศจิกายน รางวัลที่สองเป็นรางวัลจาก Booktrust องค์กรอิสระที่ส่งเสริมด้านหนังสือและการอ่าน และในเดือนธันวาคม หนังสือยังชนะในรางวัล British Book Awards (1997) หมวดหนังสือเด็กแห่งปี เป็นรางวัลที่ 3 อีกด้วย

แฮร์รี่ พอตเตอร์ โด่งดังไปทั่วโลก

หลังประสบความสำเร็จอย่างมากในอังกฤษ สำนักพิมพ์ต่างประเทศก็ให้ความสนใจกับหนังสือเล่มนี้

วันที่ 1 กันยายน 1998  (วันเปิดเทอมฮอกวอตส์) ในระหว่างการไปร่วมงานนิทรรศการหนังสือเด็กนานาชาติที่โบโลญญา อาเธอร์ เลวีน (Arthur Levine) หัวหน้าบรรณาธิการของสำนักพิมพ์สกอลาสติก (Scholastic) ทางฝั่งอเมริกาก็ตัดสินใจจะคว้าลิขสิทธิ์ต่อไปจำหน่าย ด้วยวงเงินที่เสนอให้ถึง 105,000 ดอลลาร์ นับเป็นจำนวนเงินค่าลิขสิทธิ์ที่แพงมากสำหรับหนังสือเด็กและสำหรับนักเขียนหน้าใหม่

เมื่อ Harry Potter and the Philosopher’s Stone ถูกซื้อลิขสิทธิ์มาตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา ทางสำนักพิมพ์ก็ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อหนังสือจากเดิมเป็น Harry Potter and the Sorcerer’s Stone เพราะมองว่าชื่อเดิมนั้นไม่ดึงดูดสำหรับเยาวชน และพวกเขาอาจไม่เข้าใจความหมายของคำว่า Philosopher’s Stone ด้วยความที่ Philosophy มีความหมายว่า ปรัชญา และ Philosopher หมายถึงนักปราชญ์ จึงแทนด้วย Sorcerer ที่แปลว่า พ่อมด หรือ ศิลาพ่อมดนั่นเอง

ผู้ที่มารับหน้าที่เสกสร้างภาพปกและภาพหัวบทให้กับ Harry Potter and the Sorcerer’s Stone คือ Mary GrandPré

แฮร์รี่ พอตเตอร์ เดินทางมาประเทศไทย

หนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้รับการซื้อลิขสิทธิ์มาแปลให้ชาวไทยได้อ่าน ผ่านทางอาจารย์สุมาลี บำรุงสุข ผู้แปลแฮร์รี่ พอตเตอร์ ภาค 1 2 5 6 และ 7 ที่ชื่นชอบแฮร์รี่ พอตเตอร์ ขณะอาศัยอยู่ที่อังกฤษ และเห็นว่าเป็นหนังสือที่น่าสนใจ จึงแจ้งต่อมายัง คุณสุวดี จงสถิตย์วัฒนา ให้ซื้อลิขสิทธิ์หนังสือเล่มนี้มาแปล โดยอาจารย์สุมาลี อาสาเป็นผู้แปลให้กับหนังสือเล่มนี้ด้วยตนเอง ภายใต้ลิขสิทธิ์การตีพิมพ์และจัดจำหน่ายเป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ในช่วงกลางปี 1999 ด้วยการซื้อลิขสิทธิ์ทีเดียวทั้ง 3 เล่มแรก

ซึ่งแฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มแรก หรือ Harry Potter and the Sorcerer’s Stone มีชื่อภาษาไทยว่า “แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์” ตีพิมพ์ครั้งแรกในไทยเดือนกรกฎาคม ปี 2000 (2543) จำนวน 10,000 เล่ม โดยคำว่า “ศิลาอาถรรพ์” เป็นการหยิบยืมคำมาจากคำว่า “ศิลาถรรพ์” ของศาสตราจารย์ ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ บัญญัติขึ้นมา และเพื่อไม่ให้ผู้อ่านเกิดความงุนงงในความหมายของคำว่า “ศิลาถรรพ์” ซึ่งเป็นคำสนธิ จึงเปลี่ยนมาเป็น “ศิลาอาถรรพ์”

184a2ba17cab2baa59fd27b2e0030af6

โดยภาพปกและภาพประกอบบทต่างๆ ได้รับการซื้อลิขสิทธิ์มาพร้อมกับหนังสือ ภายใต้ผลงานของ  Mary GrandPré เช่นเดียวกับของ Scholastic

hpbooks1

ต่อมาได้มีการปรับปรุงและพัฒนาเป็นปกทอง โดยใช้ภาพของ Mary GrandPré ก่อนจะผลิตออกมาเป็นเวอร์ชั่นฉบับลายเซ็น ซึ่งได้ลิขสิทธิ์ต้นฉบับมาจาก Bloomsbury ออกแบบภาพปกโดย Clare Melinsky ด้วยเทคนิคภาพพิมพ์ยาง เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2010 และปกฉลองครบรอบ 15 ปี แฮร์รี่ พอตเตอร์ โดย Kazu Kibuishi ด้วยลิขสิทธิ์ภาพเดียวกับ Scholastic โดยถือเอาวันงานเปิดตัวเป็นวันจำหน่ายอย่างเป็นทางการ คือวันที่ 31 มีนาคม 2014

หนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปีแฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้รับการวาดปกและภาพประกอบเฉพาะสำหรับประเทศไทย โดยวางจำหน่ายครั้งแรกในวันที่ 25 พฤษภาคม 2020

อ้างอิง

  • Who? J.K.Rowling, สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์
  • เจ.เค.โรว์ลิ่งผู้สร้างตำนานแฮร์รี่ พอตเตอร์, บริษัท สันสกฤต จำกัด
  • เรียนศัพท์ กับ แฮร์รี่ พอตเตอร์, สุมาลี, สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์
  • The Harry Potter Journey: The Making of ‘The Philosopher’s Stone’, Patricio Tarantino
  • J. K. Rowling – A Year In The Life (2007)