11 มกราคม 2007 เจ.เค.โรว์ลิ่ง เขียน แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต เสร็จสมบูรณ์!

หนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต (Harry Potter and the Deathly Hallows) เป็นหนังสือเล่มจบ เล่มที่เจ็ด เล่มสุดท้ายของวรรณกรรมชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์! กับผลงานการประพันธ์ชิ้นเอกของ เจ.เค.โรว์ลิ่ง ที่แฟนๆ ตั้งตารอคอย และท้วมท้น จนแม้แต่ผู้เขียนเองก็อดทึ่งมิได้

สำหรับหนังสือ Harry Potter and the Deathly Hallows ปรากฏขึ้นครั้งแรก ภายในเว็บไซต์ของ เจ.เค.โรว์ลิ่ง ภายในห้องลับที่มักมีปริศนาให้แฟนๆ ได้ติดตามข่าวคราวความจริงของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ในวันที่ 21 ธันวาคม ปี 2549

ภาพเปิดเผยชื่อเรื่องเล่ม 7 จากเว็บไซต์ www.jkrowling.com
ภาพเปิดเผยชื่อเรื่องเล่ม 7 จากเว็บไซต์ www.jkrowling.com

หลังจากนั้นก็มีการตั้งคำถามจากเหล่าแฟนๆ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ว่า Deathly Hallows แปลว่าอะไร มีการคาดเดามากมาย คำหนึ่งที่น่าสนใจนั้นคือ “เสียงเพรียกแห่งความตาย” แน่นอนว่ามันปรากฏขึ้นมาในขณะที่ยังไม่มีข้อมูลใดๆ เพิ่มเติม เพราะแม้แต่เจ.เค.โรว์ลิ่งเอง ก็ไม่ยินยอมที่จะอธิบายถึงคำๆ นี้ จนกว่าจะถึงวันวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2550 (2007) ซึ่งจะจำหน่ายพร้อมกันทั้งในอังกฤษ อเมริกา และประเทศอื่นๆ ขณะที่ของประเทศไทยเรา มีกำหนดวางจำหน่ายครั้งแรกในวันที่ 7 ธันวาคม ปีเดียวกัน

ทว่าหลังจากนั้น ในช่วงเดือนพฤษภาคม ก็ได้มีการค้นพบคำว่า Deathly Hallows ขึ้นในห้องพักหรูของโรงแรมบัลมอรัลโฮเต็ล, เอดินบะระ, สกอตแลนด์ บนรูปปั้นจารึกครึ่งตัวแบบโรมัน หมายเลข 552 โดยมีข้อความระบุว่า

“เจ.เค.โรว์ลิ่งเขียน Harry Potter and the Deathly Hallows เสร็จในห้องนี้ (552)
ลงวันที่ 11 มกราคม 2007″

สร้างความแตกตื่นให้กับแฟนๆ แฮร์รี่ พอตเตอร์ และเริ่มตีความหมายกับรูปปั้นนั้น “รูปปั้นครึ่งตัวในภาพเป็นรูปปั้นของเฮเดรียน จักรพรรดิโรมัน ผู้สร้างกำแพงบนพื้นที่ในสหราชอาณาจักร บางส่วนที่โรมันเคยยึดครอง เพื่อป้องกันพวกอนารยะชนรุกราน ส่วนจักรพรรดิอีกองค์ ซึ่งเป็นผู้บูรณะกำแพงนั้น ชื่อ เซปติมิอัส เซเวอรัส! กำแพงดังกล่าวทอดผ่านหมู่บ้านหนึ่งในแคว้นยอร์คเชียร์ และหมู่บ้านนั้นชื่อว่า สเนป!”

ในด้านของแมรี กรองด์เปร ผู้วาดภาพประกอบให้กับแฮร์รี่ พอตเตอร์ ของสำนักพิมพ์ Scholastic ก็กล่าวว่า

“ณ ตอนนี้คงบอกอะไรมากไม่ได้ แต่ฉันคิดว่ามันเป็นชื่อที่แพร่เชื้อ แห่งความข้องใจให้กับผู้อ่านไม่น้อยเลยล่ะ มันให้ความรู้สึกที่น่ากลัว แต่ไม่รู้นะ มันอาจจะหมายถึงสิ่งที่ดีก็ได้ ฉันเป็นกังวลกับงานชิ้นสุดท้ายของหนังสือชุดนี้ เท่ากับที่สนุกกับมัน ฉันเป็นคนหนึ่ง ที่ตื่นเต้นกับการ ได้ค้นพบว่า เรื่องนี้ลงเอยอย่างไร ถึงจะเศร้าที่ต้องอำลาจากแฮร์รี่ พอตเตอร์แล้ว แต่ฉันก็มีความสุขที่ได้มาถึงจุดนี้”

นั่นยังไม่นับข่าวที่รูเพิร์ต กรินท์ ผู้รับบทรอน วีสลีย์ ได้เปิดปากออกมาว่า

“ผมไม่รู้เลยนะ แต่ถ้าเป็นรอนมันก็ไม่สำคัญเท่าไหร่ เพราะนั่นเป็นเล่มสุดท้ายแล้ว(หัวเราะ) ผมจะเดือดร้อนก็ต่อเมื่อรอนดันตายตั้งแต่ต้นเรื่อง เพราะผมอยากมีส่วนร่วมกับการผจญภัยนี้ไปจนจบ”

ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2007 เว็บไซต์ Amazon.com ได้ประกาศว่า ยอดการสั่งจอง Harry Potter and the Deathly Hallows มีมากถึง 1 ล้านเล่ม และมีทีท่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว

ทางด้าน Scholastic สำนักพิมพ์ของอเมริกาที่ได้สิทธิ์ตีพิมพ์แฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็มีการตั้งแบบสำรวจ 2 แบบสำรวจ ที่สร้างความแตกตื่นมากทีเดียว

1. Who will live? Who will die? ใครจะอยู่ ใครจะตาย
2. Is Snape Good or Evil? สเนป คนดี หรือปิศาจ


ภาพปก Harry Potter and the Deathly Hallows สำหรับเด็กของอังกฤษ สำนักพิมพ์ Bloomsbury
ออกแบบปกโดย Jason Cockcroft
ภาพปก Harry Potter and the Deathly Hallows สำหรับผู้ใหญ่ของอังกฤษ สำนักพิมพ์ Bloomsbury
ภาพปก Harry Potter and the Deathly Hallows ของสำนักพิมพ์ Scholastic
ออกแบบปก และภาพประกอบโดย Mary GrandPré

ภายหลังจากความเคลื่อนไหวต่างๆ ทางฝั่งไทยเรา สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ก็ได้มีการจัดประกวดชื่อหนังสือ Harry Potter and the Deathly Hallows ในฉบับภาษาไทยเช่นกัน ซึ่งชื่อที่ได้รับการเลือกใช้คือ

“แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต”

ซึ่งชื่อที่ชนะการประกวดในครั้งนี้เป็นของ “พรฉันท์ จานะพร” ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 12 ปี [อ้างอิง Nanmeebooks] แต่ชื่อของพรฉันท์ไม่ใช่ “เครื่องรางยมทูต” อย่างที่ใช้จริง เพราะชื่อดังกล่าวเป็นชื่อที่ทางอาจารย์สุมาลี ผู้แปล ได้คิดชื่อนี้ไว้อยู่แล้ว

ทางด้านอาจารย์สุมาลี ผู้แปลแฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทย กล่าวว่า

“hallow เป็นคำค่อนข้างโบราณ ปัจจุบันไม่ค่อยมีใช้ แม้แต่คนอังกฤษ บางคนก็ยังไม่รู้จัก ความหมายของมัน คือ นับถือหรือบูชาว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งความหมาย ที่ตรงที่สุดในภาษาไทยก็คือ ของขลัง หรือเครื่องราง”

นอกจากนั้น เจ.เค.โรว์ลิ่ง ยังได้เน้นย้ำมา ขอให้สำนักพิมพ์เวทมนตร์ทั่วโลกแปลชื่อหนังสือเล่มเจ็ดนี้ให้ตรงกับความหมายของ “Deathly Hallows” ให้มากที่สุด อย่าได้ดัดแปลงเป็นอย่างอื่น แต่หากชาติไหนจนปัญญาจริงๆ ไม่รู้ว่า Hallow คืออะไร เธอก็บอกมาเป็นนัย ๆ ว่า ความหมายของมัน ก็ใกล้เคียงกับ Relics of the Death นั่นเอง

โดยในงานเปิดตัว แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต นั้นจัดขึ้นในวันที่ 7-9 ธันวาคม 2550 ณ อุทยานเบญจสิริ [อ้างอิง Nanmeebooks]

เจ.เค.โรว์ลิ่งกล่าวว่า Harry Potter and the Deathly Hallows ยังมีอีก 2 ชื่อ ที่เคยคิดจะใช้ นั่นคือ Harry Potter and the Elder Wand และ Harry Potter and the Peverell Quest [อ้างอิง Hp-Lexicon]

สำหรับ Harry Potter and the Deathly Hallows หรือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต มียอดขายในการตีพิมพ์ครั้งแรกถึง 12 ล้านเล่ม เป็นหนังสือที่ขายเร็วที่สุดใน 24 ชั่วโมง โดยนับตั้งแต่เที่ยงคืนของวันนั้นขายได้ 8,300,000 เล่ม หรือเฉลี่ยรายชั่วโมง ชั่วโมงละ 345,833 เล่ม [อ้างอิง: หนังสือ Everything is Marketing (2555)]

ขณะที่ทาง Forbes ระบุเพิ่มเติมว่า Harry Potter and the Deathly Hallows มียอดขายถึง 44 ล้านเล่ม ในสิ้นเดือนกรกฎาคม และถูกซื้อไปถึง 15 ล้านเล่ม ใน 24 ชั่วโมงแรกที่จัดจำหน่าย!