แฮร์รี่ พอตเตอร์ เด็กชายผู้ได้รับการปกป้องด้วยรักของแม่

แฮร์รี่ พอตเตอร์ เด็กชายผู้ได้รับการปกป้องด้วยรักของแม่
(HARRY POTTER, THE BOY PROTECTED BY HIS MOTHER’S LOVE)

โดย ดร. เชอร์ลีย์ กราเซียส (Dr. Shirley Gracias) จิตแพทย์ที่ปรึกษาด้านประสบการณ์ของเด็กในวัยเยาว์ ที่มีผลต่อบุคลิกภาพในวัยผู้ใหญ่

เนื้อหานี้ได้รับการตีพิมพ์ไว้ในเล่มสูจิบัตรละครเวที Harry Potter and the Cursed Child


ในปี 1997 (พ.ศ. 2540) เจ.เค.โรว์ลิ่ง ได้พาเราไปทำความรู้จักกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ พ่อมดรุ่นเยาว์วัย 11 ปี ที่กำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่ยังเป็นทารก ถูกนำมาฝากเลี้ยงกับป้าและลุงเจ้าอารมณ์ และในที่สุดก็ได้เข้าศึกษาที่ฮอกวอตส์ และเธอยังได้พาเราไปทำความรู้จักศัตรูตัวฉกาจนามว่าโวลเดอมอร์ (ทอม ริดเดิ้ล) ด้วย ซึ่งเช่นเดียวกันกับแฮร์รี่ ลอร์ดโวลเดอมอร์เองก็พบกับช่วงเวลาอันเจ็บช้ำในวัยเยาว์ แต่ที่ต่างกับแฮร์รี่คือลอร์ดโวลเดอมอร์เลือกเส้นทางซึ่งนำไปสู่ความตายและการทำลายล้าง รวมทั้งการฆาตกรรมพ่อแม่ของแฮร์รี่ตั้งแต่เขาเป็นเพียงทารกในอ้อมแขนของผู้เป็นแม่ด้วย หลังจากนั้น หนังสืออีกหกเล่มก็ตามออกมาและเป็นที่ติดตามของทั้งเด็กและผู้ใหญ่

มีสิ่งใดในเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของ เจ.เค.โรว์ลิ่ง นี้หรือที่มัดใจนักอ่านมากมายเอาไว้? และเมื่อเราได้พบแฮร์รี่ในวัยผู้ใหญ่ใน Harry Potter and The Cursed Child ที่ต้องรับบทบาทในการเป็นพ่อคน เราจะเรียนรู้อะไรอันนำไปสู่การพัฒนาสุขภาวะทางอารมณ์ของลูกหลานของเราได้บ้าง?

แก่นสารหลักที่ดำเนินไปตลอดเรื่องราวในหนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ รวมทั้งการแสดงล่าสุดนี้ขับเคลื่อนไปด้วยความต้องการที่ลึกที่สุดในจิตใจของเรา เช่นเดียวกับหนังสือสำหรับเด็กทั่วไป (เช่น สวนเที่ยงคืน (Tom’s Midnight Garden), แมงมุมเพื่อนรัก (Charlotte’s Web) และ Carries War) เรื่องราวการผจญภัยของแฮร์รี่ในฐานะพ่อมดน้อยนั้นขับเคลื่อนไปด้วยประสบการณ์ตั้งแต่เล็ก ๆ ของเราเกี่ยวกับความสูญเสียและเจ็บปวดทั้งที่เกิดขึ้นจริงและในจินตนาการ เรื่องราวของแฮร์รี่ได้เน้นย้ำอย่างยิ่งในประสบการณ์สำคัญอันมีผลต่อบุคลิกภาพของเด็ก ๆ ทุกคน นั่นคือการสูญเสียคนที่เคยให้การประคบประหงมดูแลอย่างใกล้ชิด รวมทั้งความเจ็บปวดจากครอบครัวที่แตกสลายและการเยียวยาทดแทนที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ทั้งแฮร์รี่และโวลเดอมอร์ต่างก็ประสบกับความสูญเสียและความทุกข์ทรมานอย่างใหญ่หลวงตั้งแต่ตอนเป็นเด็กเล็ก แต่แนวทางการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นที่แตกต่างกันของทั้งสองคนดูเหมือนจะเชื่อมโยงกับประสบการณ์ซึ่งพวกเขาได้รับอย่างแตกต่างกันขณะเมื่อเป็นเด็กทารก

เมื่อยังเป็นเด็ก แฮร์รี่ได้รับความรักและเป็นที่ต้องการจากคนรอบข้าง ได้รับการเอาใจใส่ดูแลจากพ่อแม่ที่มอบทุกสิ่งให้กับเขาและอาศัยอยู่ในสังคมหรือชุมชนที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน สิ่งนี้เองที่สร้างรากฐานสำคัญให้กับแฮร์รี่ในด้านของความมั่นคงทางอารมณ์ และการรู้จักปรับตัว ในทางตรงกันข้าม โวลเดอมอร์เป็นเด็กที่ปราศจากความรัก แม่ของเขาเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่สกปรกโสมมและเต็มไปด้วยความรุนแรง เธอใช้ยาเสน่ห์ล่อลวงพ่อของโวลเดอมอร์ให้มาแต่งงานกับเธอ แต่เมื่อเลิกใช้ยาเธอก็ถูกขับไสไล่ส่งและต้องเร่ร่อนไปตามลำพังกลางถนนในลอนดอน ที่สุดแล้วเธอให้กำเนิดทารกน้อย ทอม ริดเดิ้ล ในสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าแห่งหนึ่งที่ซึ่งเธอเสียชีวิตในอีกหนึ่งชั่วโมงหลังจากนั้น ทอมเติบโตมาโดยไม่มีครอบครัวที่เป็นของเขา ไม่ได้รับความรัก ไม่เป็นที่ต้องการ เขาถูกมองว่าเป็นคนนอกและเป็นอันธพาล และเช่นเดียวกับแฮร์รี่ เมื่ออายุ 11 ปี เขาก็ได้เข้าเรียนที่ฮอกวอตส์ และนั่นคือโอกาสของการเริ่มต้นชีวิตที่ต่างออกไป

ศาสตราจารย์ดัมเบิลดอร์ อาจารย์ใหญ่ของฮอกวอตส์เล็งเห็นศักยภาพที่นำไปสู่ความยิ่งใหญ่ภายในตัวเด็กชายทั้งสองคน แต่พวกเขากลับเลือกเดินในเส้นทางที่แตกต่างกัน ทอมยังคงเต็มไปด้วยความโกรธแค้นและเติบโตขึ้นกลายเป็นลอร์ดโวลเดอมอร์ผู้ชั่วร้าย ในขณะที่แฮร์รี่กลับมีความรู้สึกลึก ๆ ที่ยังผูกพันกับพ่อแม่และยอมรับการแนะนำสั่งสอนจากคนที่ปรากฏว่ารู้จักพวกเขา แฮร์รี่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่คนรอบข้าง ต้องการต่อสู้เพื่อให้ได้มีชีวิตอยู่อย่างสงบสุขและปลดเปลื้องความทุกข์ร้อนของโลกเวทมนตร์อันเนื่องมาจากการกระทำของโวลเดอมอร์ และอย่างที่เราทราบกัน ที่สุดแล้วแฮร์รี่เป็นฝ่ายชนะ

ในเรื่องราวเหล่านั้น รวมทั้งในละครเวทีแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเด็กต้องคำสาป (Harry Potter and The Cursed Child) เจ.เค.โรว์ลิ่ง ได้เน้นย้ำให้เราเห็นความสำคัญของประสบการณ์เมื่อเป็นเด็กเล็กที่มีผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพและการปรับตัว ปัจจุบันมีข้อมูลมากมายที่ให้ความรู้เกี่ยวกับว่าปฏิสัมพันธ์ต่อสังคมและการได้รับการเอาใจใส่ดูแลในวัยเด็กเล็กส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง รวมทั้งการเข้าสังคมและบุคลิกภาพอย่างไร แท้จริงแล้วสิ่งนี้เองที่เป็นหัวใจหลักในการทำงานขององค์กรลูมอส (Lumos) องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งก่อตั้งโดย เจ.เค.โรว์ลิ่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพลิกเปลี่ยนนานาประเทศจากการใช้ประโยชน์จากเด็กกำพร้ามาสู่การให้การ ‘ดูแล’ อย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันช่วยให้เด็กกำพร้ากว่าแปดล้านคนทั่วโลกได้มีครอบครัวอีกครั้งหนึ่ง ดังที่ จอร์เจ็ต มุลแอร์ (Georgette Mulheir) ประธานกรรมการบริหารของลูมอสกล่าวไว้ว่า “เราทราบดีว่าเด็ก ๆ ต้องการครอบครัวเพื่อที่พวกเขาจะเติบโต แต่หลักฐานตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาทำให้เราเห็นว่าการที่เด็ก ๆ ถูกพรากจากครอบครัว และการอยู่ในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าส่งผลต่อพัฒนาการทางสติปัญญา ร่างกาย และสุขภาพจิตของเด็ก ๆ มากมายเพียงใด”

มีคำถามว่าเด็ก ๆ นั้นเกิดมาเป็นคนดีหรือเลวโดยกำเนิดหรือไม่? หลักฐานที่มีในขณะนี้ไม่ได้ให้น้ำหนักแก่คำตอบทั้งสองอย่าง อย่างไรก็ตาม เด็ก ๆ เหล่านั้นเกิดมาพร้อมกับศักยภาพที่พัฒนาบุคลิกไปสู่เส้นทางทั้งสองด้าน ได้ และการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ก็บ่งชี้ว่าพัฒนาการของมนุษย์นั้นมีความเกี่ยวข้องกันอย่างต่อเนื่องระหว่างกลไกทางชีววิทยาและประสบการณ์ที่ได้พบ (อ้างอิงจากหนังสือ From Neurons to Neighbourhoods: The Science of Early Child Development) เมื่อยังเป็นทารก เด็ก ๆ จะรับรู้ในความสัมพันธ์กับผู้ดูแลเอาใจใส่พวกเขา (ซึ่งแม่มักจะเป็นบุคคลในอันดับแรกในฐานะผู้ให้กำเนิดและเป็นคนแรกที่อยู่ กับเด็ก) ซึ่งถือเป็นสิ่งที่กำหนดทักษะในการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมเมื่อโตขึ้นในความสัมพันธ์เหล่านี้ พฤติกรรมการแสดงออกของเด็ก (ร้องไห้ ทำเสียงอ้อแอ้ หรือยิ้ม) นั้นถูกออกแบบมาให้ดึงเอาความห่วงใยและสร้างความรู้สึกถึงความรักผูกพันกับผู้เอาใจใส่ดูแล ซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกว่ามีคนคอยเข้าใจสิ่งที่ตนเองต้องการ เด็กที่ได้รับการตอบสนองจากผู้เอาใจใส่ดูแลสม่ำเสมออย่างน้อยที่สุดสามสิบเปอร์เซ็นต์ของเวลาทั้งหมด ด้วยการให้ความอบอุ่น การประคบประหงมและชื่นใจในสิ่งที่เด็ก ๆ เหล่านั้นเป็น จะทำให้เด็กมองโลกในแง่บวกและเป็นที่ปลอดภัยสำหรับการอยู่ได้อย่างเป็นตัวของตัวเอง เด็กเหล่านี้จะเรียนรู้ว่าพ่อแม่คือที่พักพิงของความเข้มแข็ง ความเฉลียวฉลาดและความเมตตา เป็นผู้ที่เข้าใจการกระทำของพวกเขาและพร้อมให้ความช่วยเหลือในยามต้องการ ซึ่ง ณ แก่นสารสำคัญที่สุดคือ พวกเขารู้ว่าตัวเองได้รับความปลอดภัย มีคุณค่า และเป็นที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่

ภาวะอารมณ์และพัฒนาการทางสังคมของเด็กอาจเบนเข็มไปในทิศทางที่ต่างออกไปห่างผู้ที่เอาใจใส่ดูแลให้การตอบสนองเพียงผิวเผิน มีเด็กจำนวนหนึ่งซึ่งรู้สึกว่าผู้ดูแลของพวกเขาเป็นคนที่น่าหวาดกลัว แทนที่จะเป็นคนที่เขาจะมองหาความมั่นคงได้ โลกของเด็กเหล่านี้จะเต็มไปด้วยภาวะทางอารมณ์ที่ไม่แน่นอน น่าหวาดวิตก อีกทั้งความสูญเสียและความสัมพันธ์ที่แตกสลายไม่อาจได้รับการเยียวยาได้ เด็กเหล่านี้จะปรับอารมณ์ตัวเองให้ต้านทานต่อสิ่งเหล่านี้ให้ได้ ซึ่งจะทำให้พฤติกรรมของพวกเขารุนแรงกว่าปกติมากขึ้น ๆ ไปตามอายุ เด็กทารกเหล่านี้อาจโตขึ้นไปเป็นเด็กและผู้ใหญ่ที่มีนิสัยชอบบีบบังคับและช่างกำกับบัญชา นอกจากนี้ยังจะกลายเป็นคนที่คิดถึงแต่ตนเองฝ่ายเดียวเพราะพวกเขาประสบปัญหาในการสร้างความสัมพันธ์ เชื้อร้ายแห่งการไม่อาจปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้และการไม่อาจสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้นี้มักพบว่าเป็นผลพวงจากการเลี้ยงดูในช่วงสองสามเดือนแรกหลังคลอด ซึ่งเด็กทารกจะสร้างทักษะการรับมือกับประสบการณ์ที่เผชิญโดยไม่รู้ตัวเมื่ออายุพ้นช่วงหนึ่งขวบเป็นต้นไป

สิ่งที่แฮร์รี่และโวลเดอมอร์ประสบในวัยเด็กนั้นเหมือนกัน ทั้งสองต้องทนทุกข์กับการอยู่ในความปกครองของคนที่ไม่ได้รักหรือยินดียินร้ายกับพวกเขา แต่ประสบการณ์ในช่วงเป็นทารกของทั้งสองคนแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในช่วงขวบปีแรก แฮร์รี่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลในวิถีทางที่ทำให้มองโลกนี้ในแง่บวกและความเจ็บปวดเป็นสิ่งที่ทนได้และแก้ไขให้ผ่านไปได้ ลิลี่ แม่ของเขาได้ให้การเอาใจใส่ดูแลอย่างลึกซึ้งจนยอมแม้สละชีวิตเพื่อปกป้องเขาจากคำสาปพิฆาตของโวลเดอมอร์ แฮร์รี่เติบโตขึ้นโดยตระหนักดีว่าความรักของแม่ช่วยชีวิตเขาเอาไว้ แต่ในทางกลับกัน โวลเดอมอร์ไม่ได้รับการปกป้องเช่นนี้ เช่นเดียวกับเด็กในสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ยากไร้ทั่วไป (ซึ่งเป็นสถานที่ที่องค์กรของ เจ.เค.โรว์ลิ่ง กำลังเข้าไปทำงานอย่างใกล้ชิดอยู่ในขณะนี้) ไม่มีใครมอบการดูแลเอาใจใส่ให้เขาอย่างที่แฮร์รี่ได้รับ ซึ่งที่สุดแล้วทำให้เขาต้องปรับเปลี่ยนทักษะในการสร้างความสัมพันธ์ในรูปแบบของการปกป้องตัวเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้ทั้งสองเติบโตมาในวิถีทางที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ดร.เชอร์ลีย์ กราเซียส (ศัลยแพทย์, นักสะกดจิตบำบัด, สมาชิกราชวิทยาลัยด้านจิตวิทยา) คือผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาในเด็กทารกและวัยรุ่น เป็นผู้มีประสบการณ์กว่า 25 ปีในการดูแลรักษาและเป็นพยานในศาลครอบครัวและเยาวชน และเป็นสมาชิกคณะกรรมการของคณะจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่นของราชวิทยาลัยด้าน จิตวิทยา ประเทศอังกฤษ