ความลับของแฮร์รี่ พอตเตอร์จะถูกเปิดเผยในบรรณานุกรมของ เจ.เค.โรว์ลิ่ง

ด้วยความลำบากยากเข็ญของผู้เขียนที่ต้องปรับเนื้อหาไปมาบ่อยๆ และการได้สัมผัสกับต้นฉบับอย่างลับๆ หนังสือเล่มนี้จะเป็นการรวบรวมเรื่องราวเบื้องลึก”อย่างถึงที่สุด”

ประตูห้องแห่งความลับได้แง้มออกแล้ว ด้วยบรรณานุกรมเปิดเผยรายละเอียดเบื้องลึกเกี่ยวกับการตีพิมพ์หนังสือขายดีอันดับหนึ่งอย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ ของ เจ.เค.โรว์ลิ่ง โดยอธิบายถึงเหตุผลที่ต้องปรับปรุงตอนนักโทษแห่งอัซคาบัน (Prisoner of Azkaban) ทำให้ผู้เขียนถึงกับ “เซ็ง” หนังสือเล่มนี้ และเพราะเหตุใดต้นฉบับตอนภาคีนกฟินิกซ์ (Order of the Phoenix) ถึงได้ส่งกันที่ผับในลอนดอนโดยบรรจุอยู่ในถุงพลาสติก

ฟิลิป เออร์ริงตัน (Philip Errington) ผู้เขียนและกรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์สำหรับเด็ก Sotheby ใช้เวลาถึง 5 ปีในการเก็บรวบรวมข้อมูล 544 หน้า ใน เจ.เค.โรว์ลิ่ง: บรรณานุกรม 1997-2003 (J.K. Rowling: A Bibliography 1997-2013) เป็นผลงานที่โรว์ลิ่งยังบอกว่า “ละเอียดสุดๆ แล้วยังเข้าใจยากอีกต่างหาก” ซึ่งหนังสือดังกล่าวเพิ่งได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Bloomsbury Academic หนังสือนี้ก็เช่นเดียวกับบรรณานุกรมที่แสดงรายละเอียดต่างๆ ในหนังสือทั้งหมดของโรว์ลิ่งแต่ละฉบับ ในการที่จะ “เก็บรวบรวมข้อเท็จจริงและตัดข่าวลือออกไป” พร้อมทั้งสามารถทำให้แฟนๆ เข้าใจได้มากขึ้น ถ้าพวกเขามีหนังสือฉบับที่หาได้ยากอยู่ – เออร์ริงตันยังได้ขุดคุ้ยแฟ้มข้อมูลของสำนักพิมพ์ Bloomsbury และได้สัมภาษณ์พนักงานหลายๆ คนในสำนักพิมพ์เพื่อเก็บรายละเอียดเกี่ยวกับการตีพิมพ์หนังสือของโรว์ลิ่ง

“เสร็จสักที! ฉันอ่านมันมากจนเอือมแล้วเนี่ย ฉันไม่เคยต้องอ่านเล่มอื่นซ้ำไปซ้ำมาขนาดนี้ตอนที่ต้องปรับปรุงเนื้อหา แต่ครั้งนี้จำเป็นจริงๆ” โรว์ลิ่งเขียนจดหมายไม่ลงวันที่ถึง เอ็มม่า แมทธิวสัน (Emma Matthewson) บรรณาธิการของเธอ เกี่ยวกับตอนนักโทษแห่งอัซคาบัน (Prisoner of Azkaban) ซึ่งเออร์ริงตันได้นำมากล่าวถึงในหนังสือของเขาด้วย โรว์ลิ่งยังเสริมอีกว่า “ถ้าคิดว่ายังต้องแก้ไขอีก ฉันยินดีและพร้อมที่จะทำ แต่คิดว่าร่างฉบับนี้จะดีแล้ว เพราะผู้คุมวิญญาณคราวนี้ดูจะชัดเจนขึ้นแล้วนะ ฉันว่า”

แมทธิวสันได้ตอบกลับไปเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 1998 ด้วยข้อความว่า “เยี่ยมเลย โจ มันยิ่งใหญ่มาก เนื้อหาก็โยกไปโยกมา แบบนี้ไม่พลาดแน่ คุณนี่เก่งจริง!” แต่ถึงกระนั้น การแก้ไขปรับปรุงเนื้อหาก็ยังคงต้องมีอยู่ โดยที่โรว์ลิ่งเขียนหาบรรณาธิการของเธออีกในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันว่า “กล่องข้อความเล็กๆ น่ารำคาญขึ้นมาที่หน้าจอคอมของฉันว่า ‘ดูเหมือนคุณกำลังเขียนจดหมาย ต้องการความช่วยเหลือหรือไม่?’ แล็บท็อปเครื่องนี้ท่าทางจะฉลาดเกินไปแล้วล่ะ… ฉันเบื่อเหลือเกินที่จะต้องเรื่องนี้ซ้ำๆ อีก คงจะยากน่าดูที่ต้องฉีกยิ้มเวลาอ่านหนังสือให้ฟังในงานต่างๆ เนี่ย แต่บางทีอารมณ์นี้คงจะหายไปก่อนซัมเมอร์หน้าแหละ…”

เธอยุ่งน้อยกว่านี้ในช่วงที่แก้ไขตอนห้องแห่งความลับ (Chamber of Secrets) ในปี 1997 เออร์ริงตันเปิดเผย หลังจากแมทธิวสันบอกโรว์ลิ่งว่างานที่ออกมานั้น “เจ๋งสุดๆ” แล้วเสริมอีกว่า “ตามที่เราคุยกันไว้ ต้นฉบับดูจะยาวไปหน่อย” โรว์ลิ่งได้เขียนตอบในเดือนตุลาคมว่า “ฉันทำมากกว่าที่คุณแนะนำมา แต่ตอนนี้ก็พอใจกับมันแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เป็นแบบนี้ การทำงานหนัก การเขียนใหม่ในจุดที่สำคัญๆ ที่ฉันอยากจะทำเสร็จไปแล้ว ดังนั้น ถ้าต้องตัดอะไรอีก ฉันพร้อมที่จะทำอย่างรวดเร็วเลย…”

เพลงสำหรับนิกหัวเกือบขาด กลายเป็นเรื่องร้ายแรงขึ้นมาครั้งหนึ่ง โรว์ลิ่งอธิบายว่าเหมือน “เรื่องน่ากลุ้มใจ” ขณะที่ยอมรับว่ามันคือ “ความต้องการที่มากเกินไป” มันเป็นเช่นนั้นตั้งแต่ได้ปรากฏอยู่บนโลกออนไลน์หลังจากที่โรว์ลิ่งได้โพสต์ลงในเว็บไซต์ของเธอ

เออร์ริงตันยังเปิดเผยอีกว่า โรว์ลิ่งได้เสนอชื่ออื่นๆ ของตอนถ้วยอัคนี (Goblet of Fire) เช่น แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับผู้เสพความตาย (Harry Potter and the Death Eaters), แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยแห่งอัคนี (Harry Potter and the Fire Goblet) และ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับผู้ชนะทั้งสาม (Harry Potter and the Three Champions) ตามที่ได้สัมภาษณ์กับไนเจล นิวตัน (Nigel Newton) ประธานผู้บริหารของสำนักพิมพ์ Bloomsbury เรื่องนี้เกิดขึ้นตอนที่คริสโตเฟอร์ ลิตเติ้ล (Christopher Little) ตัวแทนของโรว์ลิ่งในตอนนั้น อยากจะส่งต้นฉบับที่เสร็จแล้วของแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ (Harry Potter and the Order of the Phoenix)

ลิตเติลเรียกให้นิวตันไปดื่มกับเขาที่ผับเพอลิแคนในฟูลัม เขาบอกเออร์ริงตัน ซึ่งนิวตันรู้ว่าการนัดหมายครั้งนี้จะต้องสำคัญ เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ลิตเติลส่งงานหนังสือคราวก่อนให้กับสำนักพิมพ์ Bloomsbury “ดังนั้น ผมจึงขับรถไปที่เพอลิแคนซึ่งเป็นผับที่อยู่บนถนนฟูลัมไม่ไกลจากสะพานสแตมฟอร์ตนัก มันเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงมาก ผมก็เข้าไปในผับ แล้วมีถุงพลาสติกของเซนส์เบอรี่ถุงใหญ่อยู่ที่เท้าของเขา… เขาไม่พูดถึงมันสักคำ ผมก็ด้วย เขาพูดแค่ ‘ดื่มไหม?’ ผมบอก ‘สักแก้วแล้วกัน’ ดังนั้น เราจึงยืนดื่มกันที่บาร์โดยไม่พูดอะไรถึงแฮร์รี่ พอตเตอร์เลย แต่พอถึงเวลาที่เราจะออกจากร้าน ผมก็ถือถุงนั้นกลับออกมาด้วย อย่างกับส่งจดหมายลับเลย” นิวตันกล่าว

“จากนั้นผมก็วางถุงนั้นไว้หลังรถแล้วขับรถกลับบ้านเลย ถึงจุดนั้นเนื้อหาของเรื่องมันยิ่งใหญ่มากจนเกือบกลัวว่าจะถูกมันครอบงำ ผมวางมันไว้บนเตียงนอน โดยที่มีเอกสารอีกฉบับวางอยู่ด้วย ก็เลยวางสี่หน้าแรกของ East of the Mountains ของ เอวิด กัตเตอร์สัน ไว้บนสุดแล้วนั่งอ่านตลอดคืนซึ่งภรรยาของผมคิดว่าแปลกเอาการอยู่ อันที่จริงถ้าผมจะเอาให้เธอดูก็ไม่เป็นอะไร แต่กระนั้นผมก็ยังเก็บบางส่วนเข้าตู้เซฟไว้อยู่ดี”

มีการบันทึกไว้ว่าสถิติของการประมูลหนังสือที่ตีพิมพ์ครั้งแรกของแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ (Harry Potter and the Philosophers’ Stone) คือ 150,000 ปอนด์ ทำให้หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ลงไว้ว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ เป็นหนังสือที่ขายดีที่สุด โดยบรรยายว่าเนื้อเรื่องเกี่ยวกับ “เด็กชายชาวสก็อต” ดังนั้น ทาง Bloomsbury Academic จึงให้คำบรรยายผลงานของเออร์ริงตันว่าเป็น “บรรณานุกรมที่เชื่อถือได้ที่สุด” ของงานเขียนของโรว์ลิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน

“ยังมีข้อมูลผิดๆ อยู่มากมาย และนี่คือโอกาสที่จะปรับให้เข้าใจตรงกันด้วยรายละเอียดที่ได้ค้นหามา” เออร์ริงตันกล่าว “ผมโชคดีที่สำนักพิมพ์ Bloomsbury ให้ผมได้เข้าถึงแฟ้มข้อมูลและได้สัมภาษณ์คนสำคัญๆ ซึ่งเป็นเหมือนแผนที่ให้เดินต่อไปได้ในอนาคต… คุณจะได้เห็นว่าหนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์มีความเป็นมาอย่างไร”

หนังสือเล่มนี้ ประกอบด้วยภาพสีถึง 122 ภาพ รวบรวมข้อมูลเบื้องหลังแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน ซึ่งวางจำหน่ายครั้งแรกไป เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สามารถสั่งซื้อฉบับภาษาอังกฤษได้ทั้งแบบหนังสือ ในราคา £75.00 หรือประมาณ 3,700 บาท และแบบ e-book ในราคา £64.99 หรือประมาณ 3,200 บาท (ยังไม่รวมค่าจัดส่ง) ยังไม่มีการรายงานว่าหนังสือเล่มนี้จะได้รับการแปลไทยหรือไม่ เราได้แต่ภาวนาว่ามันจะได้รับการแปลไทยให้แฟนๆ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ชาวไทยได้อ่านกัน