ครบรอบหนังสือ “แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต”

แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต หรือ Harry Potter and the Deathly Hallows เป็นหนังสือเล่มที่ 7 ในชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งประพันธ์โดย เจ.เค.โรว์ลิ่ง (J.K.Rowling) เป็นหนังสือนวนิยายเล่มสุดท้ายในวรรณกรรมชุดนี้ โดยมีกำหนดวันวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 กรกฎาคม ปี 2007 ด้วยยอดการผลิตที่ 8 ล้านเล่ม เฉพาะใน Bloomsbury ของอังกฤษ ขณะที่ทางอเมริกามียอดการผลิตที่ 12 ล้านเล่มและมีสถิติการวางจำหน่าย 24 ชั่วโมงแรกเฉพาะในอเมริกาที่ 8.3 ล้านเล่ม หรือเฉลี่ยรายชั่วโมง ชั่วโมงละ 345,833 เล่ม [อ้างอิง: หนังสือ Everything is Marketing (2555)] ซึ่งทั้งสองสำนักพิมพ์จัดจำหน่ายเวอร์ชั่นแรกพร้อมกันในรูปแบบปกแข็ง

ปกของ US โดย Mary GrandPré
ปกของ US โดย Mary GrandPré

ก่อนวันวางจำหน่ายจริง วันที่ 8 พฤษภาคม 2007 เว็บไซต์ Amazon.com ได้ประกาศว่า ยอดการสั่งจอง Harry Potter and the Deathly Hallows มีมากถึง 1 ล้านเล่ม และมีทีท่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว

Nigel Newton ประธานผู้บริหารของสำนักพิมพ์ Bloomsbury เปิดเผยว่าการเปิดตัวหนังสือครั้งแรกที่อังกฤษ ทำยอดการขายปกสำหรับเด็กในวันเดียวได้ 2,652,656 เล่ม ส่งให้แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต กลายเป็นหนังสือที่ขายเร็วที่สุดตลอดกาลในช่วงเวลานั้น และมียอดการส่งออกหนังสือเล่มนี้ไปยังประเทศอื่นๆ ใน 83 ประเทศทั่วโลกในฉบับปกแข็งถึง 11 ล้านเล่ม ใน 24 ชั่วโมงของการวางจำหน่าย (อ้างอิงหนังสือ J.K. Rowling A Bibliography 1997-2013)

นอกเหนือไปจากแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต ปกสำหรับเด็กแล้ว ยังมีการวางจำหน่ายในปกสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งถ่ายภาพสำหรับปกโดย Michael Wildsmith วางจำหน่ายพร้อมกันด้วยยอดการผลิตสำหรับปกผู้ใหญ่ที่ 2,080,718 เล่ม และแบบ Deluxe อีก 46,500 เล่ม

ขณะที่ทาง Forbes ระบุเพิ่มเติมว่า Harry Potter and the Deathly Hallows มียอดขายถึง 44 ล้านเล่ม ในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2007

เจ.เค.โรว์ลิ่ง เปิดเผยชื่อหนังสือ

ยังคงเป็นธรรมเนียมของเว็บไซต์ jkrowling.com ในยุคนั้น ที่เมื่อหนังสือเล่มใหม่ใกล้เปิดตัวจะมีปริศนามาให้แฟนๆ ได้เล่นเพื่อทายชื่อเล่มใหม่กัน และครั้งนี้มาในรูปแบบของเกม Hangman โดยเปิดให้ทุกคนสุ่มตัวอักษรชื่อภาคในช่วงคริสต์มาสวันที่ 21 – 28 ธันวาคม 2006

jkrsite_book7_02

ในตอนนั้นห้องทำงานในเว็บของเธอจะมีบรรยากาศของฤดูหนาว คุณต้องเริ่มต้นด้วยการคลิกเปิดประตูในกระจกเงาด้านขวา แล้วจะพบกันต้นคริสต์มาสหลังประตู > จากนั้นก็คลิกที่บนบานประตู พวงมิสเซิลโทก็จะปรากฏขึ้น > แล้วก็คลิกแถวเพดานในกระจกพวงริบบิ้นก็จะปรากฏขึ้น > แล้วก็ทำความสะอาดใยแมงมุมด้วยการคลิกที่ใยเหนือสวิตช์ไฟกับแถวๆ มุมโต๊ะ > แล้วก็ไปคลิกที่ก้านโมบายที่หน้าต่างด้านซ้าย โดยคลิกอันที่ 2 นับจากขวา มันจะกลายเป็นกุญแจ เราก็ลากกุญแจไปปลดล็อกประตู แล้วห้องก็จะเปิดต้อนรับเรา!

hangman1

บนโต๊ะจะมีกล่องของขวัญให้เราคลิกเปิดออก แล้วจากนั้นก็เข้าสู่การลองเล่นเกม hangman

dh

ขอบคุณข้อมูลจาก HP-LEXICON ที่ทำให้นึกถึงช่วงเวลานั้นโดยละเอียดอีกครั้ง

เจ.เค.โรว์ลิ่งเขียนเล่ม 7 เสร็จแล้ว!!!

ในเดือนพฤษภาคม ปี 2006 มีการค้นพบลายมือหลังรูปปั้นแกะสลักในโรงแรม Balmoral Hotel ในเอดินบะระ สกอตแลนด์ ในห้องพักหมายเลข 552 ด้วยถ้อยคำว่า

“เจ.เค.โรว์ลิ่งเขียน Harry Potter and the Deathly Hallows เสร็จในห้องนี้ (552)
ลงวันที่ 11 มกราคม 2007″

สร้างความแตกตื่นให้กับแฟนๆ แฮร์รี่ พอตเตอร์ และเริ่มตีความหมาย “รูปปั้นครึ่งตัวในภาพเป็นรูปปั้นของเฮเดรียน จักรพรรดิโรมัน ผู้สร้างกำแพงบนพื้นที่ในสหราชอาณาจักรบางส่วนที่โรมันเคยยึดครอง เพื่อป้องกันพวกอนารยะชนรุกราน ส่วนจักรพรรดิอีกองค์ ซึ่งเป็นผู้บูรณะกำแพงนั้น ชื่อ เซปติมิอัส เซเวอรัส! กำแพงดังกล่าวทอดผ่านหมู่บ้านหนึ่งในแคว้นยอร์กเชียร์ และหมู่บ้านนั้นชื่อว่า สเนป!”

หลังการค้นพบนี้ เจ.เค.โรว์ลิ่งยอมรับว่าเป็นการกระทำที่ไม่ควรทำเป็นแบบอย่างเลย แต่นั่นทำให้ห้องพักหรูของเธอหลายเป็นห้องพักสุดพิเศษของโรงแรมไปในทันที ด้วยอัตราค่าเข้าพักที่คืนละ £1,000 หรือประมาณ 46,500 บาทต่อคืน

เบื้องหลังของ Harry Potter and the Deathly Hallows

ด้วยความที่นวนิยายเล่มนี้เป็นเล่มสุดท้าย และมีผู้คนต้องการอยากรู้คำตอบก่อนใครมากที่สุดในโลก การป้องกันและการรักษาความปลอดภัยต้นฉบับเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงมากในช่วงเวลานั้น สิ่งที่ใช้ในการป้องกันต้นฉบับอย่างหนึ่งก็คือการเปลี่ยนชื่อหนังสือไปเป็นชื่ออื่นที่ห่างไกลไปจากแฮร์รี่ พอตเตอร์

ต้นฉบับแรกเริ่มของแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูตสำหรับการพิสูจน์อักษรนั้น ได้รับการส่งมอบเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2007 โดยใช้ชื่อปลอมๆ ว่า “Edinburgh Potmakers” และในระหว่างการส่งมอบต้นฉบับที่มีการปรับปรุงแก้ไขแต่ละครั้งก็มีการใช้ชื่อปลอมอื่นๆ ด้วย อย่าง “The Life and Times of Clara Rose Lovett (ช่วงชีวิตและเวลาของคลารา โรส โลเวตต์)” ที่มีหัวย่อยว่า “An epic novel covering many generations (มหากาพย์นวนิยายที่ครอบคลุมหลายชั่วอายุคน)”

โดยการปรับปรุงแก้ไขและพิสูจน์อักษรของหนังสือเล่มนี้ แล้วเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2007 (อ้างอิงหนังสือ J.K. Rowling A Bibliography 1997-2013)

เจ.เค.โรว์ลิ่งกล่าวว่า Harry Potter and the Deathly Hallows ยังมีอีก 2 ชื่อ ที่เคยคิดจะใช้ นั่นคือ Harry Potter and the Elder Wand และ Harry Potter and the Peverell Quest [อ้างอิง Hp-Lexicon]

เครื่องรางยมทูตในไทย

ภายหลังจากความเคลื่อนไหวต่างๆ ทางฝั่งไทยเรา สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ก็ได้มีการจัดประกวดชื่อหนังสือ Harry Potter and the Deathly Hallows ในฉบับภาษาไทยเช่นกัน ซึ่งชื่อที่ได้รับการเลือกใช้คือ “แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต” ซึ่งผู้ที่ชนะการประกวดชื่อในครั้งนี้คือ “พรฉันท์ จานะพร” ซึ่งขณะนั้นมีอายุ 12 ปี [อ้างอิง Nanmeebooks] แต่ชื่อเรื่องของพรฉันท์ไม่ใช่ “เครื่องรางยมทูต” อย่างที่ใช้จริงจนถึงปัจจุบัน เพราะชื่อเรื่องดังกล่าวเป็นชื่อที่ทางอาจารย์สุมาลี ผู้แปล ได้คิดชื่อนี้ไว้อยู่แล้ว

ปกภาษาไทยดั้งเดิม วาดโดย Mary GrandPré
ปกภาษาไทยดั้งเดิม วาดโดย Mary GrandPré

ทางด้านอาจารย์สุมาลี ผู้แปลแฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทย กล่าวว่า

“hallow เป็นคำค่อนข้างโบราณ ปัจจุบันไม่ค่อยมีใช้ แม้แต่คนอังกฤษ บางคนก็ยังไม่รู้จักความหมายของมัน คือ นับถือหรือบูชาว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งความหมายที่ตรงที่สุดในภาษาไทยก็คือ ของขลัง หรือเครื่องราง”

นอกจากนั้น เจ.เค.โรว์ลิ่ง ยังได้เน้นย้ำขอให้สำนักพิมพ์เวทมนตร์ทั่วโลกแปลชื่อหนังสือเล่มเจ็ดนี้ให้ตรงกับความหมายของ “Deathly Hallows” ให้มากที่สุด อย่าได้ดัดแปลงเป็นอย่างอื่น แต่หากชาติไหนจนปัญญาจริงๆ ไม่รู้ว่า Hallow คืออะไร เธอก็บอกมาเป็นนัย ๆ ว่า ความหมายของมัน ก็ใกล้เคียงกับ Relics of the Death นั่นเอง

โดยในงานเปิดตัว แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต นั้นจัดขึ้นในวันที่ 7-9 ธันวาคม 2550 ณ อุทยานเบญจสิริ [อ้างอิง Nanmeebooks]