เอลฟ์ประจำบ้าน (House-elf)

เอลฟ์ประจำบ้าน เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยได้รับการบันทึกไว้ในหนังสือ “สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่” ของ นิวท์ สคามันเดอร์ ว่าเป็นสิ่งมีชีวิต มีการเรียกเอลฟ์ประจำบ้านสั้นๆ ว่าเอลฟ์ บทบาทของเอลฟ์ประจำบ้านคือการรับใช้เจ้านายของมันรวมถึงคนในครอบครัวที่มันรับใช้จนวันตาย และจนสิ้นสุดครอบครัวของมัน หรือจนกว่าได้รับการปลดปล่อยการเป็นทาสรับใช้ให้แก่ครอบครัวนั้นๆ

หากอ้างอิงตามการจัดประเภทสัตว์และสิ่งมีชีวิตชั้นสูงตามนิยามสิ่งมีชีวิตชั้นสูงของ โกรแนน สตัมป์ ที่ระบุว่า

“สิ่งมีชีวิตชั้นสูง คือ สิ่งมีชีวิตใดๆ ที่มีความเฉลียวฉลาดเพียงพอที่จะเข้าใจกฎหมายของโลกแห่งเวทมนตร์ และมีส่วนรับผิดชอบในตัวบทกฎหมายเหล่านั้นได้”

เอลฟ์ประจำบ้านจึงจัดเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นสูงตามนิยามดังกล่าวได้ เพราะเอลฟ์ประจำบ้านทุกตัวพูดภาษามนุษย์ได้ เข้าใจภาษามนุษย์ได้ และมีความสามารถในการเข้าใจและปฏิบัติตามกฎหมายเวทมนตร์ของพ่อมดได้

เอลฟ์ประจำบ้านมีกฎตายตัวว่า “จะต้องปกป้องนายของมันอย่างถึงที่สุด” และเมื่อใครก็ตามที่เป็นเจ้าของเอลฟ์ประจำบ้านมอบสิ่งของให้แก่มัน นั่นหมายความว่า การเป็นทาสของเอลฟ์ประจำบ้านผู้นั้นสิ้นสุดลง แต่ทั้งนี้ การเป็นไทของเอลฟ์ประจำบ้านถือเป็นเรื่องน่าอายในหมู่เอลฟ์ด้วยกัน เอลฟ์ประจำบ้านภาคภูมิใจในหน้าที่ทาสรับใช้ของตน และจะไม่มีวันทรยศเจ้านายของมัน ตราบจนวันตาย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่ามันจะหาช่องโหว่ของคำสั่งไม่ได้ ครั้งหนึ่งครีเชอร์เคยทำตามคำไล่ของซิเรียสให้มัน “ออกไป” มันสนองสิ่งที่เจ้านายซึ่งมันไม่รักใคร่เท่าใดนัก ด้วยการไปหานาร์ซิสซา และเบลลาทริกซ์ ซึ่งเป็นสายสกุลร่วมของตระกูลแบล็ก

“ครีเชอร์เป็นสิ่งที่มันถูกพ่อมดบังคับให้เป็น แฮร์รี่ ใช่ มันสมควรได้รับความเวทนา สภาพชีวิตของมันน่าสลดใจพอ ๆ กับ ด๊อบบี้ เพื่อนของเธอนั่นแหละ มันถูกบังคับให้ทำตามคำสั่งของซิเรียส เพราะซิเรียสเป็นคนสุดท้ายในครอบครัวที่มันเป็นทาสรับใช้”

– อัลบัส ดัมเบิลดอร์ (ภาคีนกฟีนิกซ์ บ.37)

เอลฟ์ประจำบ้านเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่คู่กับตระกูลพ่อมดแม่มดรุ่นเก่ามาหลายต่อหลายรุ่น มีการสืบพันธุ์ และเอลฟ์ทุกรุ่นจะรับใช้นายของมัน จนกว่าจะถูกไล่ออก หรือปลดให้เป็นอิสระ

พวกมันไม่สวมใส่เสื้อผ้าเพราะนั่นเป็นเรื่องน่าอาย แต่พวกมันจะสวมใส่ปลอกหมอน หรืออะไรก็ตามที่ไม่ใช่เสื้อผ้า เพื่อแสดงถึงความเป็นทาสผู้รับใช้

“ขอประทานโทษ คุณผู้หญิง แต่เอลฟ์ประจำบ้านไม่มีสิทธิ์ทุกข์ใจเวลาที่มีงานต้องทำ มีนายต้องรับใช้”

– เอลฟ์ประจำบ้านตัวหนึ่งในฮอกวอตส์ (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี บ.28)

เวทมนตร์ของเอลฟ์ประจำบ้าน

“แต่เวทมนตร์ของเอลฟ์ไม่เหมือนเวทมนตร์พ่อมด ใช่ไหมล่ะ พวกมันหายตัวเข้าออกฮอกวอตส์ได้ แต่เราทำไม่ได้”

รอน วีสลีย์ (เครื่องรางยมทูต บ.10)

เอลฟ์ประจำบ้านมีเวทมนตร์เป็นของมันเอง พวกมันไม่จำเป็นต้องพึ่งพาไม้กายสิทธิ์ และไม้ได้รับอนุญาตให้เป็นเจ้าของหรือครอบครองไม้กายสิทธิ์ของพ่อมด

เจ.เค. โรว์ลิ่งเคยให้คำสัมภาษณ์ว่า เอลฟ์ประจำบ้าน มีพลังเวทมนตร์ที่แตกต่างจากพ่อมดแม่มด เป็นเวทมนตร์ที่สร้างขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้อง และทำหน้าที่ทาส ฉะนั้นการหายตัวในฮอกวอตส์ จึงเป็นสิ่งที่เอลฟ์สามารถทำได้ เอลฟ์สามารถทำในสิ่งที่พ่อมดแม่มดทำไม่ได้ เช่น การปิดกำแพงทางเชื่อมต่อไปสู่สถานีรถไฟสายด่วนฮอกวอตส์

ลักษณะของเอลฟ์ประจำบ้าน

หูยาวแบบค้างคาว ตาโตขนาดเท่าลูกเทนนิส จมูกยาวแหลมเหมือนดินสอ มีรูปร่างขนาดเล็ก ลักษณะคล้ายก็อบลิน แต่เป็นมิตรกว่ามาก พวกมันมักมีเสียงร้องแหลม และดูเหมือนว่าเพศเมียจะมีเสียงสูงแหลมกว่าเพศผู้ (ถ้วยอัคนี น.119)

ในจำพวกเอลฟ์ทั้งหลายแล้ว สัตว์วิเศษอีกชนิดหนึ่งคือ เออร์คลิง พวกมันเป็นสิ่งมีชีวิตจำพวกเอลฟ์เช่นเดียวกับเอลฟ์ประจำบ้านที่อาศัยอยู่ในป่าดำของเยอรมนี มันมีขนาดใหญ่กว่าตัวโนมที่ขนาดโดยเฉลี่ยคือสามฟุต  พวกเออร์คลิงชื่นชอมการหลอกล่อเด็กๆ ให้ตกอยู่ในภวังค์ ซึ่งแน่นอนว่าพฤติกรรมและนิสัยของเออร์คลิงแตกต่างจากเอลฟ์ประจำบ้านอย่างชัดเจน (อ้างอิง หนังสือสัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่) นอกจากนี้ยังมี ยัมโบ (Yumbo) ซึ่งเป็นเอลฟ์ประจำบ้านชนิดหนึ่งของแอฟริกา ที่ออกจะมีนิสัยก้าวร้าวอยู่ไม่น้อย เมื่อมันพยายามขโมยอาหารในงานควิดดิชเวิลด์คัพ เมื่อปี 1998 และหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เพื่อแก้แค้นที่พวกมันไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในสนามแข่ง (อ้างอิง Pottermore)

กฎของเอลฟ์ประจำบ้าน

“ไม่ได้ครับ ไม่ได้ มันเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นทางของเอลฟ์ประจำบ้านครับ…”

-ด๊อบบี้ (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี บ.21)
  • เอลฟ์ประจำบ้านต้องปฏิบัติตามคำสั่งนายทุกประการ (ห้องแห่งความลับ บ.2)
  • เอลฟ์ประจำบ้านพูดถึงนายของตัวเองอย่างที่ใจคิดไม่ได้ (ถ้วยอัคนี บ.21)
  • เอลฟ์ประจำบ้านต้องเก็บความลับของนายและปิดปากเงียบ (ถ้วยอัคนี บ.21)
  • เอลฟ์ประจำบ้านต้องรักษาเกียรติของครอบครัว (ถ้วยอัคนี บ.21)
  • เอลฟ์ประจำบ้านห้ามพูดถึงนายในทางไม่มีเป็นอันขาด (ถ้วยอัคนี บ.21)
  • เอลฟ์ประจำบ้านไม่มีสิทธิ์ทุกข์ใจเวลาที่มีงานต้องทำ มีนายต้องรับใช้ (ถ้วยอัคนี บ.28)
  • เมื่อถูกเรียกตัว เอลฟ์ประจำบ้านจะหายตัวไปหาในทันที (เครื่องรางยมทูต บ.10)
  • เอลฟ์ประจำบ้านไม่รับค่าจ้าง (ถ้วยอัคนี บ.21)

เอลฟ์ประจำบ้านที่ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์

ด๊อบบี้ เอลฟ์ประจำบ้านตระกูลมัลฟอย (ปรากฏชื่อครั้งแรกในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับ ห้องแห่งความลับ เล่ม 2)

dobby-cs

ด๊อบบี้ได้รับการเป็นไทโดยแฮร์รี่ พอตเตอร์ ผู้วางแผนปลดปล่อยด๊อบบี้ด้วยถุงเท้า เขานำถุงเท้าของเขาเองใส่ลงในหน้าหนังสือบันทึกของ ทอม ริดเดิ้ล และส่งมอบกลับคืนให้กับลูเซียส มัลฟอย ในทันทีที่เขารับบันทึกไว้ เขาก็ส่งต่อให้กับด๊อบบี้รับไปถือไว้ ซึ่งตอนนั้นเองที่แฮร์รี่บอกให้เอลฟ์ประจำบ้านเปิดออก ด๊อบบี้จึงพบกับถุงเท้าของแฮร์รี่ ที่เจ้านายของมัน (ลูเซียส มัลฟอย) มอบให้อย่างไม่ตั้งใจ ด๊อบบี้เป็นเอลฟ์ประจำบ้านเพียงตัวเดียวที่ได้รับการปลดปล่อยจากทาสแล้วมีความสุขกับการมีอิสรภาพนั้น

ด๊อบบี้เดินทางหางานอยู่เป็นเวลาสองปี แต่ไม่ได้รับการว่าจ้าง เพราะเขาต้องการค่าจ้าง จนกระทั่งด๊อบบี้และวิงกี้มาของานที่ฮอกวอตส์ และดัมเบิลดอร์ตกลงว่าจ้างเขาด้วยเงินอาทิตย์ละสิบเกลเลียนและวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่ด๊อบบี้ขอต่อรองเหลือแค่อาทิตย์ละ 1 เกลเลียน พร้อมกับวันหยุดเดือนละ 1 วันเท่านั้น (ถ้วยอัคนี บ.21)

ด๊อบบี้เสียชีวิตภายหลังการปกป้องแฮร์รี่ พอตเตอร์ยิ่งชีพจากการหมายสังหารแฮร์รี่ ด้วยฝีมือของเบลลาทริกซ์ เลสแตรงจ์ ทำให้ด๊อบบี้ถูกมีดเงินแทงผ่านหลังของด็อบบี้ และเสียชีวิตลงในเวลาต่อมา เมื่อแฮร์รี่หายตัวมายังกระท่อมเปลือกหอยของบิล และเฟลอร์ เขาฝังศพด๊อบบี้ไว้ที่นั่นด้วยมือของเขาเองโดยไม่ใช้เวทมนตร์ใดๆ เลย

วิงกี้ เอลฟ์ประจำบ้านตระกูลเคร้าช์ (ปรากฏชื่อครั้งแรกในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับ ถ้วยอัคนี เล่ม 4)

วิงกี้ เอลฟ์ประจำบ้านเพศเมีย ที่มีดวงตาสีน้ำตาลเข้ม เอลฟ์ผู้มีนิสัยอ่อนโยน รักครอบครัวที่ตนเองรับใช้อย่างถวายหัว ตรงข้ามกับด็อบบี้ ที่จำใจรับใช้ตระกูลมัลฟอย ด้วยความเจ็บปวดจากการถูกทำร้ายในแบบต่างๆ วิงกี้มีบทบาทสำคัญในตอนที่ตรามารปรากฏเหนือเต๊นท์ผู้ชมการแข่งขันควิดดิชเวิลด์คัพ วิงกี้ถูกจับได้ว่าถือไม้กายสิทธิ์ที่ใช้เสกตรามาร ซึ่งไม้กายสิทธิ์อันนั้นคือไม้กายสิทธิ์ของแฮร์รี่ พอตเตอร์ จึงถูกนายเคร้าช์ไล่ออก วิงกี้จึงไปทำงานในฮอกวอตส์แทน (เธอทำงานไปพร้อมกับการร้องไห้คิดถึงครอบครัวเคร้าช์ตลอดเวลา)

เจ.เค.โรว์ลิ่ง ยังให้สัมภาษณ์ในปี 2007 อีกว่า วิงกี้มีส่วนร่วมปกป้องในการต่อสู้กับผู้เสพความตายที่ฮอกวอตส์อีกด้วย (อ้างอิง Pottermore)

ครีเชอร์ เอลฟ์ประจำบ้านตระกูลแบล็ก (ปรากฏชื่อครั้งแรกในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับ ภาคีนกฟินิกซ์ เล่ม 5)

kreacher-op

ความน่าเศร้าที่สุดของเอลฟ์ประจำบ้านประจำตระกูลแบล็กก็คือประเพณีการตัดหัวเอลฟ์ประจำบ้านที่แก่ชราจนถือถาดไม่ไหวมาประดับผนังบ้านของ เอลลาดอร่า ป้าของซิเรียส

ครีเชอร์เป็นเอลฟ์เพศผู้ วัยชรา ที่คลั่งในตระกูลแบล็กอันสูงส่ง ครีเชอร์นับเป็นเอลฟ์ที่ดูร้ายกาจต่อพวกทรยศต่อเลือด เช่นเดียวกับมิสซิสแบล็ก นายหญิงของมัน ถึงแม้ว่านายของมันจะตายแล้ว และถูกตกทอดสู่ ซิเรียส แบล็ก แต่กระนั้น ครีเชอร์ก็ยังคงภักดีต่อนายเก่าของมัน ด้วยความที่เขาไม่ชอบซิเรียส เช่นเดียวกับนายหญิงของมัน บ่อยครั้งที่กระทำตัวหยาบคายกับซิเรียส

ต่อมาภายหลังการเสียชีวิตของซิเรียส ครีเชอร์ จึงตกเป็นสมบัติมีชีวิตชิ้นหนึ่งของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งเขาจำใจยอมรับไว้ และต่อมาในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับ เครื่องรางยมทูต ครีเชอร์ได้ปฎิบัติตัวกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ เฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์ และรอน วีสลีย์เปลี่ยนแปลงไป เมื่อแฮร์รี่มอบล็อกเกตปลอมที่เรกูลัส แบล็ก นายน้อยของครีเชอร์ เป็นผู้สร้างขึ้น มอบคืนให้กับครีเชอร์ ด้วยเหตุนี้ทำให้มันรักและภักดีต่อนายคนปัจจุบันของมันมาโดยตลอดหลังจากนั้น และในเหตุการณ์การต่อสู้ที่ฮอกวอตส์ ครีเชอร์เป็นผู้นำทัพเอลฟ์ประจำบ้านเข้าต่อสู้กับกลุ่มผู้เสพความตาย

“สู้! สู้! สู้ให้นายของฉัน ผู้พิทักษ์เอลฟ์ประจำบ้าน! สู้จอมมารในนามของเรกูลัสผู้กล้าหาญ! สู้!”
– ครีเชอร์ (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต น.673)

โฮกี้ เอลฟ์ประจำบ้านตระกูลสมิท (ปรากฏชื่อครั้งแรกในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับ เจ้าชายเลือดผสม เล่ม 6)

มันเป็นทาสรับใช้ของเฮปซิบาห์ สมิท โฮกี้เป็นเอลฟ์ประจำบ้านเพศเมีย วัยชรา ที่เคารพและซื่อสัตย์มากต่อนายหญิงของมัน โฮกี้ถูกเปลี่ยนความทรงจำโดยโวลเดอมอร์ เพื่อให้มันรับสารภาพว่าฆ่านายหญิงของมัน ซึ่งความเป็นจริงแล้วเอลฟ์ประจำบ้านจะไม่มีวันฆ่านายของมัน

ฮูกี้ (Hooky) เอลฟ์ประจำบ้านที่ปรากฏตัวเฉพาะในวิดีโอเกม แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับนักโทษแห่งอัซคาบัน

ในวิดีโอเกม ฮูกี้มีสมญาว่า “Hooky the House-elf!” ตามคำอธิบายของเฮอร์ไมโอนี่ ปรากฏเป็นรูปปั้นของฮอกวอตส์ที่ค้นพบในคุกใต้ดิน

Hooky

ปลดปล่อยเอลฟ์ประจำบ้าน

“วิงกี้เป็นเอลฟ์อัปยศก็จริง แต่วิงกี้ก็ยังไม่ถึงขั้นต้องได้ค่าจ้าง! วิงกี้ยังไม่ตกต่ำถึงขนาดนั้น! วิงกี้แค่ขายหน้าที่ถูกปล่อยตัวให้เป็นไท!”

– วิงกี้ (ถ้วยอัคนี บ.21)

ส.ร.ร.ส.อ (S.P.E.W)

สมาคมที่จัดตั้งขึ้นโดยเฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์ ในปี 1994 เธอบังคับให้เพื่อนของเขาอีกสองคนร่วมด้วย โดยแฮร์รี่ ดำรงตำแหน่งเลขานุการสมาคม และรอนในตำแหน่งเหรัญญิกของสมาคม โดยมีจุดประสงค์ให้การเป็นอยู่ของเอลฟ์ประจำบ้านหลุดพ้นจากการเป็นทาสและมีชีวิตที่ดีขึ้นเทียบเท่ากับพ่อมดแม่มด

ส.ร.ร.ส.อ มีชื่อเต็มว่า สมาคมเรียกร้องสิทธิเอลฟ์ S.P.E.W. (Society for the Promotion of Elvish Welfare) ก่อตั้งขึ้นโดยมีเจตนาในการคุ้มครองเอลฟ์ประจำบ้าน ไม่ให้ถูกรังแก หรือถูกทำร้ายอย่างไม่ชอบธรรม โดยมีค่าสมัครเข้าสมาคมนี้ คนละ 2 ซิกเกิ้ล

“ทีแรกฉันจะใช้ว่า หยุดการกระทำทารุณเพื่อนสัตว์วิเศษและรณรงค์เพื่อเรียกร้องสิทธิที่เท่าเทียมกัน — แต่ที่บนเข็มกลัดไม่พอก็เลยใช้แค่นี้ มันเป็นคำประกาศจุดยืนของเรา”

– เฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์ (ถ้วยอัคนี บ.14)

พันธกิจ

  • ระยะสั้น เรียกร้องให้เอลฟ์ประจำบ้านได้ค่าจ้างและความเป็นอยู่ที่เป็นธรรม
  • ระยะยาว การเปลี่ยนแปลงกฎหมายเรื่องการห้ามใช้ไม้กายสิทธิ์ และพยายามผลักดันให้มีเอลฟ์ร่วมอยู่ในกองออกระเบียบและควบคุมสัตว์วิเศษ เพราะพวกนี้ไม่มีตัวแทนอยู่ในนั้นเลยจนน่าตกใจ

ภายหลังจากที่เฮอร์ไมโอนี่เรียนต่อจนจบปีเจ็ดอย่างฮอกวอตส์ เธอก็เข้าทำงานที่กระทรวงเวทมนตร์ในกองออกระเบียบและควบคุมสัตว์วิเศษ เธอได้ใช้หน้าที่การงานของเธอเพื่อปกป้องและทำให้อุดมการณ์ของ ส.ร.ร.ส.อ สำเร็จตามความประสงค์ของเธอได้ในที่สุด หลังจากเสร็จสิ้นการเรียกร้องสิทธิ์ให้แก่เอลฟ์เป็นผลสำเร็จเธอก็ก้าวหน้าในหน้าที่การงานขึ้นทำงานต่อในกองบังคับควบคุมกฎหมายเวทมนตร์

เอลฟ์ประจำบ้านที่ฮอกวอตส์

โรงครัวฮอกวอตส์ ภาพจาก Pottermore.com

“ที่นี่เป็นสถานที่ที่มีเอลฟ์ประจำบ้านจำนวนมากที่สุดในอังกฤษเลยนะฉันว่า กว่าร้อยตัวเชียวล่ะ”

– นิกหัวเกือบขาด (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี บ.12 น.212)

ในฮอกวอตส์มีเอลฟ์ประจำบ้านมากกว่าร้อยตัว ทำหน้าที่ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นจัดเตรียมอาหาร (พ่อมดแม่มดไม่สามารถเสกอาหารขึ้นเองได้) ทำความสะอาดห้องต่างๆ รวมถึงห้องนั่งเล่นรวม พวกมันพร้อมใจทำงานโดยไม่หวังค่าตอบแทน มีเพียงด๊อบบี้เท่านั้นที่ได้รับเงินตอบแทนจากการทำงาน ด้วยมันคิดว่า มันเป็นไท ไม่ใช่ทาส ฉะนั้นใครจะใช้งานมันจำต้องจ้างมัน ยกเว้นแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่มันพร้อมทำให้อย่างถวายหัว ไม่คิดเงิน  ในช่วงปีห้าของเฮอร์ไมโอนี่ เธอพยายามเรียกร้องสิทธิต่อเนื่องและหาทางปลอดปล่อยเอลฟ์ประจำบ้านจากการเป็นทาส แต่สิ่งที่เธอทำสร้างความหวาดกลัวให้เอลฟ์ประจำบ้านเหล่านั้น พวกมันหวาดกลัวหมวกไหมพรมถักที่เฮอร์ไมโอนี่ซ่อนไว้ทั่วห้องนั่งเล่นรวมกริฟฟินดอร์ จนท้ายที่สุดมีเพียงด๊อบบี้เท่านั้นที่ทำความสะอาดหอคอยกริฟฟินดอร์เพียงผู้เดียว

รอน “นี่เธอพูดเรื่องอะไร”

เฮอร์ไมโอนี่ “เอลฟ์ประจำบ้าน! ไม่มีตรงไหนเลยในหนังสือ ฮอกวอตส์: ประวัติศาสตร์น่ารู้ ที่หนาตั้งหลายพันหน้า ที่จะบอกว่าเราทุกคนสมรู้ร่วมคิดกันกดขี่ทาสจำนวนเป็นร้อย!”

– แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี บ.15 น.275)

เอลฟ์ประจำบ้านที่อเมริกา

ที่สหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1920s เอลฟ์ประจำบ้านนั้นทำงานอยู่ทั้งในสภาเวทมนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา หรือมาคูซา คอยทำหน้าที่ขัดทำความสะอาดไม้กายสิทธิ์ให้พ่อมดแม่มดที่มาติดต่อหรือทำงานในมาคูซา และยังทำงานอยู่ในร้านเหล้าเถื่อนของผู้วิเศษที่มีชื่อว่า ร้านหมูตาบอด หรือ The Blind Pig โดยทำหน้าที่เป็นทั้งบาร์เทนเดอร์ให้กับร้าน (ภ.สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่)

เกร็ดที่น่าสนใจ

  • ในกระทรวงเวทมนตร์ที่กองออกระเบียบและควบคุมสัตว์วิเศษ มีสำนักงานการตั้งถิ่นฐานใหม่ของเอลฟ์ประจำบ้าน (Office of House-Elf Relocation) อยู่ด้วย ซึ่งสำนักงานนี้เป็นหนึ่งในสำนักงานที่ นิวท์ สคามันเดอร์ เคยทำงานอยู่ในปี 1915 – 1917 ก่อนจะเลื่อนไปทำงานในแผนกสัตว์ (อ้างอิง สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่)
  • ในข้อสอบ WOMBAT ที่ปรากฏในช่วงเว็บไซต์ jkrowling.com สมัยแฮร์รี่ พอตเตอร์ ระบุว่า เอลฟ์ประจำบ้านมีอายุขัยอยู่ที่ประมาณ 200 ปี ทั้งยังไม่สามารถรับคำสั่งให้ฆ่าตัวตายได้ ขณะเดียวกันพวกมันไม่ได้ผสมพันธุ์กันบ่อยนักและต้องได้รับอนุญาตจากเจ้านายของมันอีกด้วย ทั้งยังมีความสามารถในการลบล้างเวทมนตร์ของพ่อมด และให้ความจงรักภักดีต่อบ้านมากกว่าผู้อยู่อาศัย
  • เอลฟ์ประจำบ้านยังมีความสามารถในการทำไวน์อีกด้วย ดังที่มีปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเจ้าชายเลือดผสม น.36 แต่ก็ไม่น่าแปลกใจอะไรนักเมื่อเห็นได้ชัดว่าความสามารถด้านการทำอาหารเป็นคุณสมบัติหนึ่งของเอลฟ์ประจำบ้าน