เมื่อเพลงประกอบภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทำหน้าที่ “ส่งสาร” อย่างลับๆ

ก่อนอื่นเลยต้องขอบคุณพี่ไวน์ที่แนะนำคลิปวิดีโอตัวนี้ให้มีโอกาสได้เข้าไปรับฟัง และเข้าใจบางอย่างจากดนตรีมากขึ้น เพราะมันไม่ได้ทำหน้าที่แค่ชี้นำอารมณ์ หรือเร้าให้เราคล้อยตามไปกับเนื้อหาที่ฉากนำเสนอ แต่ยังทำหน้าที่เป็น ผู้ส่งสาร ให้แก่ผู้ชมด้วย

เนื้อหาต่อไปนี้จึงมาจากวิดีโอ และจากที่ผมเข้าใจเองตั้งแต่ชมภาพยนตร์

เพลงประกอบภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์ แต่งโดย John Williams (3 ภาคแรก) , Patrick Doyle (ภาค 4), Nicolas Hooper (ภาค 5 และ 6), Alexandre Desplat (ภาค 7.1 และ 7.2)

เริ่มต้นกันที่ Hedwig’s Theme เพลงหลักของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งบทเพลงต้นฉบับแต่งโดย John Williams ที่ยังทำหน้าที่เป็นส่วนผสมของเพลงหลักให้ภาพยนตร์ “สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่” โดยได้ James Newton Howard มารับช่วงต่อ

เราจะได้ยินเพลงนี้ในภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทุกภาค มีการปรับแต่งเพลงและอารมณ์ไปตามความเหมาะสม ให้เติบโตขึ้นตามช่วงวัย และการปรับดนตรียังไม่เพียงแต่ตามอารมณ์ของฉากแต่จะส่งสารหรือให้ความหมายบางอย่างที่น่าสนใจ

ในแฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ เพลงนี้จะบรรเลงขึ้นเพื่อสื่อสารว่ามีบางสิ่งกำลังจะมาถึง เริ่มต้นกันด้วยฉากเปิดที่ดัมเบิลดอร์ปรากฏตัวขึ้น หรืออย่างตอนที่จดหมายมากมายจากฮอกวอตส์กรูกันออกมาจากทุกทิศทางของซอยพรีเว็ต ตอนที่แผลเป็นของทารกแฮร์รี่ระเบิดออกเพื่อแนะนำให้ทุกคนรู้จักว่าเขาคือแฮร์รี่ พอตเตอร์ หรือตอนที่แฮกริดปรากฏตัวมาหาดัมเบิลดอร์และมักกอนนากัล หรือตอนที่เฮ็ดวิกหอบหิ้วไม้กวาดนิมบัสสองพันมาให้แฮร์รี่กลางห้องโถงใหญ่ เพลง Hedwig’s Theme จึงเป็นสัญลักษณ์ของ “การมาถึง” หรือ “แนะนำ”

ต่อมาเพลง Hedwig’s Theme ก็เพิ่มบทบาทในการส่งสาร เป็นตัวแทนแห่งความหวัง ความปลอดภัย และความสำเร็จ เมื่อดนตรีนี้ปรากฏในฉากใด หมายถึงความหวังได้ก่อตัวขึ้นและจะนำไปสู่ความสำเร็จ

ในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับห้องแห่งความลับ เพลงนี้แสดงถึงการมาถึงอีกครั้ง และเป็นการมาถึงของความหวังที่จะพาแฮร์รี่ออกไปจากการถูกกักขังจากพวกเดอร์สลีย์

ใน แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต ภาค 2 เมื่อสามสหายหนีรอดจากกริงกอตส์ด้วยมังกรยูเครนกระเพาะเหล็กตาบอด เพลงนี้บรรเลงขึ้นเพื่อแสดงถึงความปลอดภัย และรอดพ้นจากอันตราย

หรือฉากที่รอนและเฮอร์ไมโอนี่เข้าไปทำลายฮอร์ครักซ์ในห้องแห่งความลับ ก็มีการคลอด้วยเพลง Hedwig’s Theme อยู่นิดๆ เพื่อส่งสารถึงความหวังและความสำเร็จที่กำลังจะเกิดขึ้น

และครั้งหนึ่งที่เพลง Hedwig’s Theme ถูกเปลี่ยนจังหวะ ภายใต้ชื่อเพลงใหม่ว่า Gilderoy Lockhart ให้ส่งสารความหลอกลวง ไม่เอาไหน ในฉากตัวละครของกิลเดอรอย ล็อกฮาร์ต ในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับห้องแห่งความลับ ล็อกฮาร์ตจึงกลายเป็นความหลอกลวง ความหวังที่พึ่งพาไม่ได้

อีกบทเพลงที่แฝงความหมายไว้อย่างชัดเจนคือ Double Trouble ในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับนักโทษแห่งอัซคาบัน

บทเพลงที่มีต้นฉบับเพลงมาจากละครเวทีเรื่อง แมคเบธ (MacBeth) ของเชกสเปียร์ นี่ไม่ใช่แค่การหยิบมานำเสนอถึงเวทมนตร์เฉยๆ แต่เพลงยังทำหน้าที่ส่งสารว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ “คำพยากรณ์” เพราะในแมคเบธ องก์ที่ 4 ฉากที่ 1 บทเพลงนี้ขับร้องโดย 3 แม่มดผู้พยากรณ์เห็นแจ้ง และทุกครั้งคำพยากรณ์ของสามแม่มดจะเกี่ยวพันกับ “ความผิดปกติ” เมื่อสามแม่มดรับรู้ถึงความผิดปกตินางจะมีอาการเจ็บแปลบเป็นลางบอกเหตุ (คล้ายๆ แฮร์รี่เจ็บแผลเป็นไหม?) รวมถึง “ความชั่วร้ายที่คืบคลาน” “ความตาย” และ “การจากไปอย่างไร้ร่องรอย” ด้วย  นั่นหมายความว่า เพลงนี้ส่งสารอย่างชัดเจนถึงตัวละครปีเตอร์ เพ็ตติกรูว์ บ่งบอกถึงคำพยากรณ์หายนะ บ่งบอกตามเนื้อเรื่องว่าตัวร้ายที่แท้จริงจะปรากฏ เป็นผู้นำความตายมาสู่ แล้วเขาก็จะหายหัวไป

สามแม่มด โดย Alexandre-Marie Colin
สามแม่มดจากละครเวที Macbeth โดย Alexandre-Marie Colin

อีกเพลงที่ส่งสารถึงผู้ฟังก็คือเพลง Dumbledore’s Farewell ที่แต่งโดย Nicolas Hooper

ที่มาด้วยบรรยากาศแสนเศร้า แต่ส่งสารถึง “บุคคลอันเป็นที่รักยิ่ง” ที่หยิบมาใช้สื่อสารแบบเดียวกันนี้อีกครั้งในฉากเสกผู้พิทักษ์เป็นกวางตัวเมียของเซเวอรัส สเนป ในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต ภาค 2

หรือเพลง Lily’s Theme ในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูตภาค 2 แต่งโดย Alexandre Desplat

ที่ทำหน้าที่เป็น “ลางบอกเหตุ” หรือสัญญาณที่บ่งบอกล่วงหน้าถึงตัวละครของ เซเวอรัส สเนป ว่ามีชะตากรรมแสนเศร้า รวมถึงความเกี่ยวข้องกับ ลิลี่ พอตเตอร์ อย่างสุดซึ้ง และแจ้งเตือนคนชมและฟังว่าตัวละครนี้จะจากเราไปสู่ที่เดียวกับคนรักที่เขาโหยหา เราได้ยินดนตรีนี้เป็นครั้งที่ 2 เมื่อแฮร์รี่ พอตเตอร์ รับเอาความทรงจำมาจากน้ำตาของเซเวอรัส สเนปในวาระสุดท้ายก่อนเขาตาย เพลง Lily’s Theme บรรเลงคลอในวาระก่อนสุดท้ายของชีวิตนี้เพื่อบอกถึงความเชื่อมโยงระหว่างลิลี่กับสเนป

เมื่อดนตรีที่คุ้นเคยอย่าง Hedwig’s Theme หวนกลับมาอีกครั้งในภาพยนตร์ “สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่” ดนตรีนี้จึงเป็นเหมือนสารแห่งความหวัง การรอคอย การเริ่มต้นที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง