อย่าให้ลูกของคุณเป็น “เด็กต้องคำสาป” คนต่อไป

สิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญและความเป็นมนุษย์อย่างยิ่งในผลงานของเจ.เค. โรว์ลิ่ง วรรณกรรมชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ เรื่อยมาถึงจนบทละครเวที แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเด็กต้องคำสาป ที่แม้ผู้เขียนบทจะไม่ใช่ เจ.เค.โรว์ลิ่ง แต่เป็น แจ็ก ทอร์น ทว่าแก่นเรื่องและข้อคิดที่แฝงอยู่ในบทละครบทใหม่นี้ ยังคงสะท้อนถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งเป็นสถาบันพื้นฐานที่สำคัญของมนุษย์ทุกคน

แน่นอนว่าพื้นฐานของพ่อแม่ทุกคน คืออยากให้ลูกเป็นคนดี เรียนเก่ง มีเพื่อนดีๆ จึงสรรหาสิ่งต่างๆ ป้อนให้ลูก เพื่อให้ลูกมีความสมบูรณ์แบบ โดยอาจหลงลืมความต้องการที่แท้จริงของลูก และนั่นคือสิ่งที่แฮร์รี่กำลังกระทำกับลูกคนกลางของตัวเอง “อัลบัส เซเวอรัส พอตเตอร์”

แฮร์รี่พยายามอย่างยิ่งที่จะให้อัลบัส ซึ่งแตกต่างจากลูกอีกสองคนยอมรับและเข้าใจในตัวเขา และพยายามเป็นแบบอย่างของพ่อที่ดี แต่กลับไม่สนใจ เข้าใจ และยอมรับในตัวอัลบัสอย่างที่ควรจะเป็น เมื่ออัลบัสเลือกสกอร์เปียส มัลฟอยมาเป็นเพื่อนสนิท การที่แฮร์รี่ไม่ถูกชะตากับครอบครัวมัลฟอยมาตั้งแต่อดีตทำให้แฮร์รี่รู้สึกว่าอัลบัสกำลังเลือกในสิ่งที่ผิด และซ้ำร้ายหนักไปอีกเมื่อคำทำนายของเซ็นทอร์ให้ความหมายคลุมเครือว่าคนรอบข้างของอัลบัสจะเป็นคนพาหายนะมาให้! แฮร์รี่จึงสั่งห้ามทุกวิถีทางไม่ให้อัลบัสและสกอร์เปียสใกล้ชิดกัน ถึงขนาดไปหาศาสตราจารย์มักกอนนากัลเพื่อสั่งให้เธอเปลี่ยนตารางเรียนของทั้งสองให้แยกจากกันเด็ดขาด นี่คือความผิดพลาดที่ใส่ใจแต่ความต้องการของตนเอง (โดยอ้างว่าเพราะความปลอดภัยของลูก) และไม่พยายามเข้าใจลูกให้มากพอ

เมื่อความหวังของพ่อแปรเปลี่ยนเป็นการสั่งให้ทำสิ่งที่พ่อต้องการ อัลบัสจึงเชื่ออย่างสุดใจว่าแฮร์รี่ พยายามยัดเยียดความเป็นตัวเองให้เขา และอยากให้เขาเป็นหรืออยู่ใต้เงาของพ่อ แม้แฮร์รี่จะปฏิเสธว่าเขาไม่เคยเรียกร้องให้ลูกชายอยู่ในเงาของตน แต่เจตนาลึกๆ ก็อยากให้เขาเป็นอย่างที่พ่อต้องการ เป็นเหมือนลูกอีกสองคน อัลบัสรู้สึกอึดอัดใจเพราะแฮร์รี่เอาแต่จะมอบอดีตของเขาให้กับตัวเอง เหตุการณ์ที่ทำให้อัลบัสรู้สึกว่าพ่อยัดเยียดและไม่เข้าใจตนเองมากที่สุดก็คือของขวัญคริสต์มาสที่แฮร์รี่มอบผ้าห่มในวัยเด็กของตัวเองให้เขา โดยไม่ได้นึกหรือรู้ว่าลูกชายอยากได้อะไร

การตัดสินใจไปหาความสุขภายนอกจึงกลายเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะอัลบัสไม่เชื่อมั่นอีกแล้วว่าบ้านพอตเตอร์หลังนี้จะให้ความสบายใจและแก้ปัญหาให้เขาได้

แต่อัลบัสยังโชคดีที่พ่อรู้ตัวทันในที่สุด เมื่อแฮร์รี่ได้พูดคุยเปิดอกกับเดรโก มัลฟอย และความเป็นพ่อคนก็ทำให้เขาคิดได้ในที่สุดว่า

“เราทั้งคู่ไม่ได้มอบสิ่งที่ลูกต้องการให้เขา แต่มอบสิ่งที่เราต้องการ เรามัวแต่วุ่นวายเขียนอดีตของเราใหม่ แล้วก็ทำร้ายปัจจุบันของลูก”

หากเราพ่อแม่ลดความคาดหวังลง เปิดใจรับฟังความต้องการของลูกๆ มากขึ้น ไม่บังคับหรือเรียกร้องให้ลูกเป็นอย่างที่ต้องการ ซื่อตรงต่อความรู้สึกและความสัมพันธ์ และพยายามไม่บีบบังคับหรือยัดเยียดความต้องการของตนเองให้ลูกๆ ครอบครัวหนึ่งครอบครัวจะมีความสุขมากจริงๆ เพราะเมื่อเกิดปัญหา กลุ่มคนกลุ่มแรกๆ ที่เราจะมุ่งไปหาคือพ่อแม่ และเราจะสุขใจทุกครั้งที่ได้กลับบ้านมาหาคนที่เรารักและรักเรา แต่หากการกระทำของพ่อแม่เป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม ความเครียดและรู้สึกไม่ไว้วางใจจะก่อตัวขึ้นอย่างช้าๆ และสุดท้ายลูกของเราก็จะเป็นเด็กต้องคำสาปคนต่อไป…

การเลี้ยงดูจึงเป็นเหมือนคาถาที่สามารถเป็นได้ทั้งสร้างคุณและให้โทษ การเลี้ยงดูที่ผิดพลาดกลายเป็นคำสาปที่ผูกติดเด็กคนหนึ่งไปตลอดกาล หรือจนกว่าจะได้รับการเยียวยา ฉะนั้นอย่าให้ลูกของคุณต้องเป็นเด็กต้องคำสาปคนต่อไปอีกเลย…

และนี่ข้อคิดดีๆ จาก บทละครเวที แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเด็กต้องคำสาป ที่ผู้ใหญ่อย่างพ่อแม่ก็อ่านได้ ลูกก็อ่านดี ยิ่งพ่อแม่ลูกได้อ่านร่วมกันยิ่งสร้างความเข้าใจ กระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้นมากขึ้นด้วย

ติดตามอ่านความสนุกและเอาใจช่วยสองพ่อลูก และเรื่องราวอีกมากมายในโลกแห่งเวทมนตร์ที่ทุกคนคิดถึง ในหนังสือบทละครเวทีฉบับซ้อมใหญ่ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเด็กต้องคำสาป เรื่องราวลำดับที่แปด อีก 19 ปีต่อมา วางจำหน่ายแล้วโดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์