ศตวรรษที่สิบเจ็ดและต่อจากนั้น (Seventeenth Century and Beyond)

เมื่อพวกโนแมจชาวยุโรปเริ่มอพยพมายังโลกใหม่ แม่มดและพ่อมดชาวยุโรปจำนวนมากก็มาตั้งรกรากในอเมริกาเช่นเดียวกัน เหมือนกับเหล่ามิตรสหายโนแมจ พวกเขามีเหตุผลมากมายเอื้อให้ตัดสินใจละทิ้งถิ่นกำเนิด บ้างถูกผลักดันด้วยความกระหายการผจญภัย ทว่าส่วนใหญ่มาเพื่อหลบหนีเอาตัวรอดจากสาเหตุเช่น การขับไล่ข่มเหงจากพวกโนแมจในบางครั้ง จากเพื่อนๆ พ่อมดแม่มดด้วยกันในบางที รวมไปถึงจากอำนาจหน่วยงานของโลกเวทมนตร์เอง ซึ่งปัจจัยประการหลังนี้ได้มุ่งหมายพยายามจะปะปนตัวเองไปกับคลื่นมหาชนโนแมจที่ทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หรือพยายามแฝงตัวอยู่ท่ามกลางประชากรผู้วิเศษชาวอเมริกันพื้นเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่โดยปกติต้อนรับและปกป้องพี่น้องชาวยุโรปอยู่แล้ว

จากช่วงต้นเห็นได้ชัดว่าโลกใหม่นั้นมีสภาพแวดล้อมที่ทารุณสำหรับพ่อมดแม่มดมากกว่าโลกเก่า ด้วยสามเหตุผลหลัก

ประการแรก เช่นเดียวกับพวกโนแมจ พวกเขามายังประเทศนี้ด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกเพียงน้อยนิด ยกเว้นที่พวกเขาทำได้เอง ตอนอยู่ที่ประเทศบ้านเกิด พวกเขาเพียงแค่ตรงไปร้านเครื่องยาท้องถิ่นหาของที่จำเป็นสำหรับปรุงยา แต่ที่นี่พวกเขาต้องออกตามหาพืชวิเศษที่ไม่คุ้นเคยเอง แถมที่นี่ยังไม่มีช่างทำไม้กายสิทธิ์ที่เป็นที่รู้จัก และโรงเรียนคาถาพ่อมดแม่มดและเวทมนตร์ศาสตร์อิลเวอร์มอร์นี (Ilvermorny School of Witchcraft and Wizardry) ที่ในวันหนึ่งจะกลายเป็นโรงเรียนเวทมนตร์ยิ่งใหญ่ที่สุดติดอันดับโลก ตอนนั้นก็ยังเป็นแค่กระท่อมซอมซ่อที่มีครูเพียงสองคนและนักเรียนอีกสองคนเท่านั้น

ประการที่สอง การกระทำของเพื่อนโนแมจทำให้ประชากรไร้เวทมนตร์จากบ้านเกิดของผู้วิเศษส่วนใหญ่ดูน่ารักใคร่ทีเดียว เพราะไม่เพียงแต่สร้างความขัดแย้งในหมู่ผู้อพยพกับชาวอเมริกันพื้นเมืองเท่านั้น แต่ยังทำลายความเป็นหนึ่งเดียวกันของชุมชนผู้วิเศษด้วย รวมถึงความเชื่อทางศาสนาของโนแมจเองยังส่งผลให้พวกเขาไม่ยอมทนรับปรากฏการณ์ใดๆ ก็ตามที่มีร่องรอยเกี่ยวพันกับเวทมนตร์อย่างรุนแรง พวกคลั่งศาสนากลุ่มพิวริตัน (The Puritans) นั้นมีความสุขกับการให้ร้ายกันและกันถึงกิจกรรมนอกรีตจากหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงน้อยนิด เช่นนี้พ่อมดแม่มดในโลกใหม่ก็คิดถูกแล้วที่จะต้องระวังตัวจากกลุ่มคนพวกนี้

ประการสุดท้าย และอาจเป็นปัญหาที่อันตรายมากที่สุดที่หมู่ผู้วิเศษผู้เพิ่งมาถึงอเมริกาใหม่จะต้องเผชิญก็คือพวกสเคาเรอร์ (Scourer) เนื่องจากชุมชนผู้วิเศษในอเมริกามีขนาดเล็กมาก กระจัดกระจาย และอยู่กันอย่างเป็นความลับ จึงยังไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเป็นของตัวเอง เป็นเหตุให้เกิดช่องว่างที่ถูกแทรกแซงด้วยกลุ่มพ่อมดแม่มดรับจ้างไร้ศีลธรรมจากนานาประเทศอย่างมากหน้าหลายตา ซึ่งตั้งตนขึ้นเป็นกลุ่มที่มีบทบาทน่ากลัวและโหดเหี้ยม ไล่ล่าสังหารไม่เฉพาะแต่กับพวกอาชญากร แต่รวมถึงใครก็ตามที่มีค่าหัวคุ้มๆ ด้วย เมื่อเวลาผ่านไป พวกสเคาเรอร์ก็ทวีความเสื่อมทรามมากขึ้น เมื่ออยู่ห่างจากอำนาจปกครองของรัฐบาลเวทมนตร์ของประเทศตนเอง หลายคนลุ่มหลงในอำนาจและความโหดร้ายและกระทำการอันอยุติธรรมผ่านภารกิจของพวกเขา พวกสเคาเรอร์ต่างมีความสุขในการฆ่าหลั่งเลือดและทรมาน รวมถึงมีการค้ามนุษย์ในหมู่ผู้วิเศษอีกด้วย จำนวนของพวกสเคาเรอร์เพิ่มทวีคูณขึ้นในอเมริกาช่วงปลายศตวรรษที่สิบเจ็ด และมีหลักฐานว่าแม้แต่โนแมจที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ก็ไม่พ้นจากการถูกใส่ความว่าเป็นผู้วิเศษ เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งรางวัลตอบแทนจากพวกไร้เวทมนตร์ขี้งมงายของชุมชน

การพิจารณาคดีแม่มดแห่งเซเล็มที่โด่งดังในปี 1692-93 นับเป็นโศกนาฏกรรมของชุมชนผู้วิเศษ นักประวัติศาสตร์ผู้วิเศษเห็นพ้องว่าในกลุ่มผู้พิพากษาพิวริตันนั้นมีอย่างน้อยสองคนที่เป็นสเคาเรอร์ ซึ่งตั้งใจล้างแค้นให้สิ่งที่เกิดขึ้นในอเมริกา ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นแม่มด ที่ถูกจับกุมทั้งที่ไม่มีส่วนรู้เห็นกับอาชญากรรมเลย นอกนั้นเป็นพวกโนแมจโชคร้ายที่โดนจับกุมเพราะดันแสดงพฤติกรรมผีเข้าผีออกและกระหายเลือดเป็นส่วนใหญ่

เหตุการณ์ที่เซเล็มมีความสำคัญต่อชุมชนผู้วิเศษไม่เฉพาะด้วยเหตุผลที่มันทำให้เกิดการสูญเสียมากมายเท่านั้น แต่มันยังสร้างผลกระทบอย่างฉับพลันที่ทำให้แม่มดและพ่อมดจำนวนมากหนีไปจากอเมริกา และทำให้อีกจำนวนมหาศาลไม่คิดจะตั้งรกรากที่นั่นอีกต่อไปด้วย ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจต่อจำนวนประชากรผู้วิเศษของอเมริกาเหนือเมื่อเทียบกับประชากรในยุโรป เอเชีย และแอฟริกา จนกระทั่งถึงช่วงต้นทศวรรษที่ยี่สิบ ที่ปรากฏว่าจำนวนแม่มดและพ่อมดชาวอเมริกันมีน้อยกว่าอีกสี่ทวีป ครอบครัวเลือดบริสุทธิ์ซึ่งได้รับข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ผู้วิเศษเกี่ยวกับกิจกรรมของพวกพิวริตันและสเคาเรอร์มักไม่ไปที่อเมริกา และนั่นย่อมหมายถึงจำนวนร้อยละของพ่อมดแม่มดที่เกิดจากโนแมจในโลกใหม่มีจำนวนสูงกว่าที่อื่นๆ ด้วย ซึ่งแม้พวกพ่อมดแม่มดเหล่านี้มักแต่งงานกันและสร้างวงศ์วานว่านเครือของผู้มีเวทมนตร์ด้วยกันเอง แต่อุดมการณ์เรื่องเลือดบริสุทธิ์ที่แสนทรหดในประวัติศาสตร์เวทมนตร์ยุโรปก็มีให้พบเห็นน้อยกว่ามาก ๆ ในอเมริกา

บางทีผลกระทบที่ยิ่งใหญ่สุดของเซเล็มก็คือการก่อตั้งสภาเวทมนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (Magical Congress of the United States of America) ในปี 1693 ก่อนการก่อตั้งระบบรัฐสภาของพวกโนแมจราวหนึ่งศตวรรษ พวกพ่อมดแม่มดชาวอเมริกันทุกคนรู้จักกันในชื่อย่อ มาคูซา (ในภาษาอังกฤษใช้ว่า MACUSA ซึ่งออกเสียงกันโดยทั่วไปว่า มาคูซา Mah – cooz – ah) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ชุมชนผู้วิเศษอเมริกาเหนือมารวมตัวกันเพื่อร่างกฎหมายให้กับตนเอง และก่อตั้งโลกผู้วิเศษขึ้นในโลกของโนแมจเหมือนกับที่มีอยู่ในเกือบทุกประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ งานชิ้นแรกของมาคูซาคือการพิจารณาคดีพวกสเคาเรอร์ที่ทรยศต่อพวกเดียวกัน พวกที่กระทำอาชญากรรม ค้ามนุษย์ในหมู่ผู้วิเศษ ทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้ายทารุณ ให้ต้องโทษประหารจากคดีเหล่านั้น

พวกสเคาเรอร์ที่ฉาวโฉ่ที่สุดหลายคนหลบหนีการตัดสินโดยใช้หนังสือรับรองสากลเพื่อเอาตัวรอดจากการจับกุม พวกเขาหายเข้ากลีบเมฆไปสู่ชุมชนโนแมจอย่างถาวร บางคนแต่งงานกับพวกโนแมจและสร้างครอบครัวขึ้นมา และเพื่อปกปิดตัวตนของสเคาเรอร์ ลูกคนไหนที่ดันส่งกลิ่นเวทมนตร์ขึ้นมาต้องถูกกำจัดทิ้ง เก็บไว้เฉพาะเด็กที่ไร้เวทมนตร์เท่านั้น นอกจากนี้บรรดาสเคาเรอร์ที่อาฆาตแค้นยังส่งต่อความคิดของพวกเขาสู่ลูกหลานให้เชื่อว่าเวทมนตร์นั้นมีอยู่จริง และพ่อมดแม่มดต้องถูกกำจัดไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

ทีโอฟิลัส อับบอต (Theophilus Abbot) นักประวัติศาสตร์ผู้วิเศษชาวอเมริกัน พบว่าครอบครัวดังกล่าวข้างต้นหลายครอบครัวล้วนแต่มีความเชื่อในเรื่องเวทมนตร์อย่างมากและเกลียดชังมันอย่างยิ่งยวดด้วย และความเชื่อเรื่องการต่อต้านเวทมนตร์และกิจกรรมของพวกทายาทครอบครัวสเคาเรอร์ก็น่าจะมีส่วนทำให้พวกโนแมจชาวอเมริกาเหนือมักถูกหลอกให้เชื่อเรื่องของเวทมนตร์ได้ยากกว่าประชากรโนแมจในที่อื่นๆ ซึ่งนั่นส่งผลกระทบอย่างมากมายต่อแนวทางการปกครองชุมชนผู้วิเศษ

 


ต้นฉบับภาษาอังกฤษ: https://www.pottermore.com/writing-by-jk-rowling/seventeenth-century-and-beyond-en

ขอบคุณพี่แชมป์ (Hogwartslover) พี่จาร์ (Lily Potter) และพี่ชิน (Chinnapotter) ที่ให้ความช่วยเหลือด้านคำศัพท์ การเกลาข้อความ มา ณ ที่นี้ด้วยครับ ^ ^