ตรอกไดแอกอน (Diagon Alley)

“ยินดีต้อนรับ สู่ตรอกไดแอกอน”

— รูเบอัส แฮกริด

ตรอกไดแอกอน (Diagon Alley) เป็นสถานที่สำหรับจับจ่ายใช้สอยของพ่อมดแม่มด การไปยังตรอกไดแอกอน ต้องเข้าลอนดอน ไปยังร้านหม้อใหญ่รั่วที่ตั้งอยู่บนถนนชาริงครอส แล้วเข้าไปหลังร้าน จำให้ขึ้นใจว่า แนวตั้งสาม แนวนอนสอง จากนั้นมองหาถังขยะ เหนือถังขยะขึ้นไปนับอิฐสามก้อน แล้วขวาอีกสองก้อน แล้วก็เคาะลงไปเลยตรงนั้น 3 ครั้ง

มีอะไรเกิดขึ้นในตรอกไดแอกอนบ้าง

ปี 1991

แฮกริดพาแฮร์รี่ พอตเตอร์ มายังตรอกไดแอกอน เพื่อซื้อสัมภาระสำหรับการเข้าเรียนที่โรงเรียนคาถาพ่อมดแม่มดและเวทมนตร์ศาสตร์ฮอกวอตส์ ในเช้าของวันที่ 1 สิงหาคม (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ บ.5 น.79) ในวันนั้นยังเป็นวันที่แฮร์รี่ ได้รู้จักกับเดรโก มัลฟอย เด็กชายคนแรกที่จะเข้าเรียนฮอกวอตส์ในปีเดียวกับเขา และแฮกริดซื้อนกฮูกหิมะสแกนดิเนเวียขนสีขาวประน้ำตาลให้แฮร์รี่ เป็นของขวัญวันเกิดครบรอบ 11 ปี

ปี 1993

หลังการทำร้ายป้ามาร์จโดยไม่ได้ตั้งใจ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้ออกจากบ้านเลขที่ 4 ซอยพรีเว็ต มายังร้านหม้อใหญ่รั่ว โดยอาศัยรถเมล์อัศวินเป็นพาหนะในการเดินทาง ซึ่งในระหว่างที่เขาอาศัยอยู่ที่นั่นเขาได้เดินเที่ยวและสำรวจเรียกว่าทุกซอกมุมของตรอกไดแอกอนเลยทีเดียว

… ถนนสายยาวปูด้วยก้อนหินสายนี้แน่นขนัดไปด้วยร้านขายของสำหรับพ่อมดแม่มดอันน่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในโลก ความคิดที่จะผิดคำพูดที่ได้ให้ไว้กับฟัดจ์เพื่อกลับออกไปเตร็ดเตร่ในโลกของพวกมักเกิ้ล จึงไม่มีอยู่ในใจของแฮร์รี่เลย
— แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับนักโทษแห่งอัซคาบัน บ.4 น.67 —

ระหว่างพักที่ร้านหม้อใหญ่รั่วตามความประสงค์ของฟัดจ์ แฮร์รี่ก็ได้พบกับเพื่อนๆ ร่วมชั้นของเขาโดยบังเอิญทั้งเชมัส ฟินนิกัน, ดีน โทมัส และเนวิลล์ ลองบอตทอม เมื่อถึงวันสุดท้ายของการปิดภาคเรียนครอบครัววีสลีย์ และเฮอร์ไมโอนี่ ตัดสินใจพักที่ร้านหม้อใหญ่รั่วด้วย เพื่อที่วันรุ่งขึ้นในวันเปิดภาคเรียน พวกเขาจะได้เดินทางไปด้วยกันทั้งหมด

ปี 1996

หลังการหวนคืนอำนาจของลอร์ดโวลเดอมอร์ และประกาศแสดงตัวอย่างชัดเจน ตรอกไดแอกอนที่เคยคึกคักกลับเงียบสงบลงในพริบตา ร้านค้าที่หน้าต่างเคยแสดงสินค้า ทั้งตำราคาถา เครื่องปรุงยา หรือหม้อใหญ่ ถูกแทนที่ด้วยป้ายประกาศขนาดใหญ่ของกระทรวงเวทมนตร์ หน้าต่างหลายบานมีกระดานตอกปิดไว้ แผงลอยซอมซ่อผุดขึ้นตลอดถนน จำหน่ายเครื่องรางปลอมที่ช่วยป้องกันจากมนุษย์หมาป่า ผู้คุมวิญญาณ และอินเฟอไร

daigonalley-hbp
(โอลลิแวนเดอร์ถูกผู้เสพความตายพาตัวไปหาโวลเดอมอร์)

ร้านค้าสำคัญอย่างร้านโอลลิแวนเดอร์ปิดตัวลง เพราะถูกผู้เสพความตายลักพาตัวไป ฟลอเรียน ฟอร์เตสคิว เจ้าของร้านไอศกรีมในตรอกไดแอกอนก็ถูกอุ้มฆ่า ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากไปทำอะไรไม่ถูกใจพวกผู้เสพความตายเข้า

ร้านเกมกลวิเศษวีสลีย์ของฝาแฝดวีสลีย์ เป็นเพียงร้านเดียวในตรอกไดแอกอนที่สดใส และมีลูกค้าคับร้าน

ปี 1997

ร้านค้ามากมายปิดตัวลง แต่ก็มีร้านอื่นผุดขึ้นมาแทน ส่วนใหญ่เป็นร้านขายสินค้าศาสตร์มืดโดยเฉพาะ (เครื่องรางยมทูต บ.26 น.483) พ่อมดที่เคยเดินซื้อของนั้นแทบไม่มีเหลือ และมีกลุ่มคนเสื้อผ้ารุ่งริ่งคอยขอทานตามจุดต่างๆ พวกเขาเหล่านี้เป็นพ่อมดแม่มดที่ถูกยึดไม้กายสิทธิ์ไป

ตรอกไดแอกอนประกอบด้วยร้านค้าต่าง ๆ ดังนี้

ร้านฝั่งทางเหนือ (อ้างอิง Pottermore)

daigonalley-north

ร้านหม้อใหญ่ (Potage’s Cauldron Shop)

ร้านค้าที่อยู่ใกล้ประตูทางเข้าตรอกไดแอกอนมากที่สุด นักเรียนฮอกวอตส์และพ่อมดแม่มดสามารถซื้อหม้อของพวกเขาได้ที่นี่ โดยเลือกได้จากหม้อทองเหลือง ดีบุก ทอง เงิน และทองแดงในทุกๆ ขนาด บางอันก็สามารถคนได้เอง บางอันก็สามารถพับเก็บได้ด้วย (ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มที่ 1)

ดวงอาทิตย์ทอแสงสว่างไสวจับบนหม้อใหญ่ทรงกลมที่กองซ้อนกันอยู่ข้างนอกร้านค้าที่ใกล้ที่สุด หม้อใหญ่ — มีทุกขนาด — ทำจาทองแดง ทองเหลือง ดีบุกผสมตะกั่ว เงิน — แบบคนของในหม้อเองได้ — แบบพับเก็บได้ ป้ายที่แขวนไว้โฆษณาเช่นนั้น
— แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ บ.5 น.91 —

ร้านขายยาแผนโบราณหรือร้านขายเครื่องยา (Apothecary)

ร้านค้าจำหน่ายส่วนผสมสำหรับการปรุงยา อย่าง ตับมังกรออนซ์ละ 17 ซิกเกิ้ล (ศิลาอาถรรพ์ บ.5 น.92) (ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มที่ 1) ปรากฏชื่อ Slug & Jiggers Apothecary ในภาพยนตร์

มีของน่าสนใจมากพอที่จะทำให้ลืมกลิ่นเหม็นพิกลๆ เหมือนกลิ่นไข่เน่าผสมกะหล่ำปลีเน่าได้ มีถังบนพื้นที่ใส่ของเหนียวๆ ลื่นๆ ไหใส่สมุนไพร รากไม้แห้ง และผงสีสดๆ เรียงรายอยู่บนกำแพง มีมัดขนนก เชือกร้อยเขี้ยวสัตว์ และพวกอุ้งมือสัตว์แขวนไว้ที่เพดาน ระหว่างที่แฮกริดบอกชายที่อยู่หลังเคาน์เตอร์ให้เตรียมเครื่องปรุงยาพื้นฐานต่างๆ ให้แฮร์รี่ แฮร์รี่ก็หยุดพิจารณาเขาของตัวยูนิคอร์นสีเงินที่มีราคาเขาละยี่สิบเอ็ดเกลเลียน และดูตาของแมลงปีกแข็งสีดำเป็นมัน (ราคากำละห้าคนุต)
— แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ บ.5 น.102-3 —

Mr. Mulpepper’s Apothecary

ร้านจำหน่ายเครื่องยาขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ถัดจากร้าน Slug & Jiggers Apothecary ปรากฏในภาพยนตร์เท่านั้น (อ้างอิง Harry Potter Film Wizardry)

Wiseacre’s Wizarding Equipment

จำหน่ายสินค้าจำพวกกล้องส่องทางไกล ตาชั่งทองเหลือง เครื่องมือแปลกๆ ทำด้วยเงินที่แฮร์รี่ไม่เคยเห็นมาก่อน และลูกแก้วทรงกลมจำลองรูปดวงจันทร์ ไม่เคยปรากฏในหนังสือ แต่ปรากฏครั้งแรกในภาพยนตร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับห้องแห่งความลับ, สวนสนุก The Wizarding World of Harry Potter และเว็บไซต์ Pottermore

ร้านไอศกรีมของฟลอเรียน ฟอร์เตสคิว (Florean Fortescue’s Ice Cream Parlour)

ร้านขายไอศกรีมหลากรสชาติ ที่แฮร์รี่เคยใช้ในการทำเรียงความการเผาแม่มดในยุคกลาง แถมเจ้าของร้านยังใจดีช่วยให้ความรู้แฮร์รี่ และให้ไอศกรีมซันเดย์ฟรีทุกครึ่งชั่วโมงอีกด้วย ซึ่งร้านไอศกรีมอยู่ตรงข้ามกับร้านสัตว์วิเศษ (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับนักโทษแห่งอัซคาบัน บ.4 น.77) (ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มที่ 3, 6 และกล่าวถึงในเล่ม 1)

ร้านเสื้อคลุมสำหรับทุกโอกาสของมาดามมัลกิ้น (Madam Malkins Robes For All Occasions)

เป็นร้านขายเสื้อคลุม ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแบบนักเรียนฮอกวอตส์ หรือเสื้อคลุมสำหรับออกงาน หรือโอกาสไหนๆ สามารถหาซื้อได้ที่นี่ (ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มที่ 3, 6 และพูดถึงครั้งแรกในเล่ม 1)

ธนาคารกริงกอตส์ (Gringotts Wizarding Bank)

อาคารสีขาวเหมือนหิมะที่ตั้งเด่นเหนือร้านรวงทั้งหลาย ด้านหน้าคือก๊อบลินที่แต่งกายด้วยเครื่องแบบสีแดงสดกับทอง ที่นี่คือที่ฝากเงินและทรัพย์สมบัติของเหล่าพ่อมดแม่มด ที่มีการป้องกันอย่างแน่นหนาด้วยเวทมนตร์หลายรูปแบบ และมังกรสำหรับเฝ้าตู้นิรภัยพิเศษ (ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มที่ 1, 2, 3, 6, 7 และกล่าวถึงในเล่ม 4 และ 5)

มีก๊อบลินอีกเป็นร้อยนั่งอยู่บนม้านั่งสูงหลังเคาน์เตอร์ยาว บ้างจดอะไรขยุกขยิกในสมุดเล่มใหญ่ บ้างชั่งน้ำหนักเหรียญบนตาชั่งทองเหลือง บ้างกำลังใช้กล้องส่องดูอัญมณี ที่ผนังมีประตูอยู่มากมายหลายบานเกินกว่าจะนับได้ พวกก๊อบลินหลายตัวทำหน้าที่พาลูกค้าเดินเข้าออกประตูเหล่านั้น
— แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ บ.5 น.93 —

ร้านนกฮูกอายล็อปส์ (Eeylops Owl Emporium)

จำหน่ายนกฮูก (ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มที่ 1, 3 และพูดถึงในเล่ม 6)

ร้านนกฮูกอายล็อปส์ มีทั้งนกฮูกสีน้ำตาล นกฮูกอเมริกาเหนือ นกแสก* นกฮูกสีน้ำตาล และนกฮูกหิมะ
— แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ บ.5 น.92 —

*ในหนังสือระบุชื่อ “นกฮูกโรงนา” ซึ่งภายหลังอาจารย์สุมาลี ผู้แปลแฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มแรก ได้ขอให้มีการแก้ไขใหม่เป็น นกแสก อ้างอิง )

ร้านสัตว์วิเศษ (Magical Menagerie)

เป็นร้านสำหรับคนรักสัตว์ ซึ่งจะสามารถหาสัตว์เลี้ยงแปลกๆได้อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น หนูสีดำมันวาว ที่ใช้หางของตัวเองกระโดดเชือก เต่าที่มีกระดองเป็นคริสตัลหลากสี และอื่นๆ เป็นร้านที่รอนซื้อยาบำรุงให้กับสแคบเบอร์ และภายหลังเฮอร์ไมโอนี่ ซื้อ “ครุกแชงก์” แมวสีส้มเพศผู้มาเลี้ยง (จริงๆ มันคือแมวพันธุ์ผสมเนียเซิล) (ปรากฏและพูดถึงในหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ ภาค 3 เพียงภาคเดียว)

ใน Pottermore ร้านสัตว์วิเศษติดกับร้านนกฮูกอายล็อปส์

ในร้านไม่ค่อยมีที่ว่างมากนัก พื้นที่ทุกตารางนิ้วบนผนังมีกรงแขวนไว้ มีกลิ่นสาบและเสียงหนวกหูเพราะเจ้าของกรงเหล่านั้นล้วนแต่กำลังส่งเสียงจี๊ดๆ กุ๊กๆ เจี๊ยกๆ หรือไม่ก็ฟ่อๆ แม่มดที่อยู่ข้างหลังเคาน์เตอร์กำลังให้คำแนะนำเรื่องการเลี้ยงอึ่งอ่างสองหางกับลูกค้ารายหนึ่ง
— แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับนักโทษแห่งอัซคาบัน บ.4 น.77 —

ร้านอุปกรณ์ควิชดิชชั้นเยี่ยม** (Quality Quidditch Supplies)

แฟนๆควิดดิชคุณโชคดีแล้วละ ร้านนี้มีอุปกรณ์ทุกๆ อย่างเกี่ยวกับควิดดิชที่คุณต้องการ ไม่ว่าจะเป็นไม้กวาด อุปกรณ์สำหรับบำรุงรักษาไม้กวาด และอื่นๆ ที่เกี่ยวกับควิดดิช หรือโปสเตอร์ของทีมควิดดิชที่คุณชื่นชอบ (ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มที่ 1, 2 และ 3)

*ในหนังสือเล่ม 2 (ห้องแห่งความลับ ระบุชื่อร้านเป็น “ร้านเครื่องกีฬาควิดดิชมีคุณภาพ” (ห้องแห่งความลับ บ.4 น.79)

ร้านตัวบรรจงและหยดหมึก (Flourish and Blotts)

เป็นร้านที่ขายหนังสือเวทมนตร์ต่างๆ รวมถึงหนังสือสำหรับนักเรียนฮอกวอตส์ในแต่ละชั้นปี หนังสือบางเล่มอาจมีลูกเล่นแปลกๆ บ้างก็เบาเหมือนขนนก บ้างก็มองไม่เห็น (ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มที่ 1, 2, 3, 6 และกล่าวถึงในเล่ม 4 และ 7)

ร้านฝั่งทางใต้ (อ้างอิง Pottermore)

daigonalley-south

ร้านโอลลิแวนเดอร์ (Ollivanders)

ร้านขายไม้กายสิทธิ์ที่ดีที่สุด ด้วยความประณีตในการทำไม้กายสิทธิ์ของตระกูลโอลลิแวนเดอร์ นับตั้งแต่ 382 ปีก่อนคริสตกาล ไม้กายสิทธิ์นั้น เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมคุณโอลลิแวนเดอร์ต้องวัดตัวคุณ และทดสอบเพื่อที่จะหาไม้ที่ดีที่สุดด้วยตัวของเขาเอง ในราคา 7 เกลเลียน (ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มที่ 1)

ร้านสุดท้าย นั้นแคบและซอมซ่อ ตัวหนังสือทองที่ลอกแล้วบนประตูเขียนไว้ว่า “โอลลิแวนเดอร์ ผู้ประดิษฐ์ไม้กายสิทธิ์ชั้นดี ตั้งแต่ 382 ปีก่อนคริสตกาล” ไม้กายสิทธิ์อันหนึ่งวางอยู่บนหมอนสีม่วงซีดจางในหน้าต่างกระจกฝุ่นจับหนา
— แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ บ.5 น.103-4 —

ร้านกัมเบิ้ลและเจปส์ (Gambol and Japes Wizarding Joke Shop)

ขายของตลกพ่อมด เช่น ดอกไม้ไฟของดอกเตอร์ฟิลิบัสเตอร์ (ไร้ความร้อน จุดได้แม้เปียกน้ำ) (ปรากฏในแฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มที่ 2)

ร้านขายเสื้อคลุมใช้แล้ว (Second-Hand Robes)

(กล่าวถึงในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับห้องแห่งความลับ บ.4 น.78 ปรากฏครั้งแรกใน Pottermore)

สำนักพิมพ์ออบสคูรัสบุ๊คส์ (Obscurus Books)

สำนักพิมพ์ผู้ตีพิมพ์หนังสือ “สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่” โดยนิวท์ สคามันเตอร์ ตั้งอยู่เลขที่ 18A ตรอกไดแอกอน ลอนดอน (ปรากฏในหนังสือสัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ และ Pottermore

สำนักพิมพ์เดลี่พรอเฟ็ต (Daily Prophet)

ที่ตั้งสำนักพิมพ์หลักของหนังสือพิมพ์เดลี่พรอเฟ็ต

สำนักพิมพ์วิซซ์ฮาร์ดบุ๊คส์ (Whizz Hard Books)

ผู้ตีพิมพ์หนังสื “ควิดดิชในยุคต่างๆ” ของเคนนิลเวอร์ที วิสป์ และวรรณกรรมคลาสสิกเรื่อง “ตัวเป็นขน ใจเป็นคน” ตั้งอยู่เลขที่ 129B ตรอกไดแอกอน ลอนดอน

ร้านขายของทิ้งแล้ว (Junk Shop หรือ Cranville Quincey’s Magical Junkshop***)

ขายสินค้าที่แทบจะไร้ค่า เช่น ไม้กายสิทธิหักๆ ตราชั่งทองเหลืองพังๆ หรือเสื้อคลุมเปื้อนยาพิษ

ในร้านเล็กๆ ที่ขายของทิ้งแล้ว เต็มไปด้วยไม้กายสิทธิ์หักๆ ตาชั่งทองเหลืองที่ไม่เที่ยงตรง และเสื้อคลุมเก่าๆ เปื้อนหยดยาพิษเปรอะไปหมด พวกเขาพบเพอร์ซี่กำลังก้มหน้าก้มตาอ่านหนังสือเล่มเล็กๆ ที่น่าเบื่อชื่อ “พรีเฟ็คผู้ก้าวสู่อำนาจ”

*** Cranville Quincey’s Magical Junkshop เป็นชื่อร้านขายสินค้าทิ้งแล้วในภาพยนตร์ (อ้างอิง Harry Potter Film Wizardry)

ร้านทไวล์ฟิตต์และแท็ตติง (Twilfitt and Tattings)

ร้านเสื้อคลุมชั้นดี เป็นร้านขายเสื้อคลุมอีกร้านในตรอกไดแอกอน (กล่าวถึงในแฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเจ้าชายเลือดผสม บ.6 น.127)

 

ร้านที่ไม่ระบุตำแหน่งในตรอกไดแอกอนชัดเจน

ร้านกาแฟ (cafés)

แฮร์รี่ใช้พื้นที่นอกร้านกาแฟสำหรับทานอาหารใต้ร่มกันแดดสีสันสดใส และพบปะเพื่อนร่วมวงแปลกหน้า (แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับนักโทษแห่งอัซคาบัน บ.4 น.68)

ร้านเกมกลวิเศษวีสลีย์

เป็นร้านขายของตลกของฝาแฝด วีสลีย์ ตั้งอยู่เลขที่ 93 ตรอกไดแอกอน ลอนดอน (กล่าวถึงในแฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่ม 5 และปรากฏในเล่ม 6)

Scribbulus Writing Implements

มีการพูดถึงในหนังสือเล่ม 1 และ 2 แต่มาปรากฏชื่อร้านค้าในภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับห้องแห่งความลับ

Sugarplum’s Sweets Shop

ร้านขนมหวานที่ปรากฏเฉพาะในภาพยนตร์

Terrortours

ตัวแทนนำเที่ยวของพ่อมดแม่มด ตั้งอยู่เลขที่ 59 ตรอกไดแอกอน ลอนดอน เชี่ยวชาญด้านการนำเที่ยวแนวเขย่าขวัญ อย่างปราสาทในทรานซิลเวเนียที่มีแวมไพร์เป็นเจ้าของปราสาท หรือเดินทางตามรอยซอมบี้ และล่องเรือในสามเหลี่ยมเบอร์มิวด้า ตัวแทนนำเที่ยงแห่งนี้จะไม่รับผิดชอบใดๆ ในกรณีที่คุณบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในระหว่างการท่องเที่ยว (ปรากฏใน Daily Prophet Newsletters หนังสือพิมพ์พิเศษที่ตีพิมพ์ขึ้นจริงๆ โดยมีเจ.เค.โรว์ลิ่งเขียนเนื้อหาให้กับ Harry Potter Fan Club อย่างเป็นทางการในปี 1998 และ 1999 ของสำนักพิมพ์ Bloomsbury)

The Ministry Press

สำนักพิมพ์ผู้ให้การตีพิมพ์โปสเตอร์ประกาศจับต่างๆ ของกระทรวงเวทมนตร์ (ปรากฏใต้ภาพโปสเตอร์ ในภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเจ้าชายเลือดผสม) (อ้างอิง Harry Potter: A Pop-Up Book และ Harry Potter Wiki)

Madam Primpernelle’s Beautifying Potions

ตั้งอยู่เลขที่ 275 ตรอกไดแอกอน ลอนดอน เป็นธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือแม่มดในการลบหูด (ปรากฏใน Daily Prophet Newsletters หนังสือพิมพ์พิเศษที่ตีพิมพ์ขึ้นจริงๆ โดยมีเจ.เค.โรว์ลิ่งเขียนเนื้อหาให้กับ Harry Potter Fan Club อย่างเป็นทางการในปี 1998 และ 1999 ของสำนักพิมพ์ Bloomsbury)

เกร็ดน่ารู้

  • ในชื่อภาษาอังกฤษ เมื่อนำมาต่อกันจะได้ว่า Diagonalley ซึ่งวิธีนี้เป็นการเล่นคำ ที่มีความหมายถึง “แนวทแยง” เราพบว่าตรอกไดแอกอนนั้นเป็นเส้นคดเคี้ยวไปมา ตัดไปตัดมา
  • งานออกแบบตรอกไดแอกอนในภาพยนตร์ ได้รับแรงบันดาลใจจากถนน Dickensian London ในต้นศตวรรษที่ 1800 และออกแบบให้ดูผอมบางและบิดเบี้ยวเหมือนจะคงสภาพอยู่โดยไม่พังทลายไม่ได้ถ้าไม่พึ่งพาด้วยเวทมนตร์ (อ้างอิง Harry Potter: A Pop-Up Book และ Harry Potter Film Wizardry)dickensianlondon
  • ธนาคารกริงกอตส์ในภาพยนตร์ มีต้นแบบมาจาก London’s Australia House
  • เครื่องแต่งกายของพ่อมดแม่มดในตรอกไดแอกอนภาคแรก Judianna Makovsky ฝ่ายออกแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในภาคแรกได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบจาก The Wizard of Oz (อ้างอิง Harry Potter Film Wizardry)