เกร็ดข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์จากหนังสือ The Official Guide: the Making of Harry Potter

หนังสือ The Official Guide: the Making of Harry Potter เป็นหนังสือที่มีขายในสตูดิโอทัวร์ (The Making of Harry Potter, Warner Bros. Studio Tour) ข้อมูลในหนังสือจะมีการเล่าถึงที่มาของสตูดิโอลีฟเดน ฉากสถานที่ เอฟเฟกต์ และนักแสดงสัตว์บางส่วน

 

โดยมีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์หลัก ๆ ดังนี้

ห้องโถงใหญ่

– นาฬิกาทรายที่ใช้บอกคะแนนบ้านทั้งสี่ในห้องโถงใหญ่ ส่วนที่เป็นเหมือนทรายจริงๆคือลูกปัดแก้วสีหลายพันเม็ด

– คบเพลิงรูปสัตว์ที่อยู่ข้างผนังห้องโถงทั้งสองด้านถูกแกะสลักเป็นรูปสัตว์ประจำแต่ละบ้าน (ถึงมันจะตลกที่สิงโต แบดเจอร์ หรืองูมีปีกก็เหอะ)

– โพเดี่ยมนกฮูกของดัมเบิลดอร์ทำมาจากทั้งทองแท้และขี้ผึ้งเหลว

– รูปแบบเพดานของห้องโถงใหญ่ฮอกวอตส์ได้แรงบันดาลใจมาจากห้องโถงเวสต์มินสเตอร์ที่ลอนดอน (แต่แน่นอนล่ะว่าเพดานเวทมนตร์เกิดจากวิชวลเอฟเฟกต์ล้วนๆ)

– นักออกแบบตกแต่ง 90 คนใช้เวลามากกว่า 1 เดือนในการเปลี่ยนห้องโถงใหญ่ฮอกวอตส์ที่เราเห็นเป็นประจำ เป็นธีมสีเงินในฉากงานเลี้ยงเต้นรำวันคริสต์มาสในภาค 4

หอกริฟฟินดอร์

– หอนอนนักเรียนชายกริฟฟินดอร์มีขนาดเล็กเป็นทรงกลม (ดีไซเนอร์ฝ่ายการสร้าง สจ๊วต เคร็กเป็นคนต้นคิดเรื่องนี้)

– ในห้องนั่งเล่นหอกริฟฟินดอร์จะมีภาพเหมือนของบรรดาอดีตอาจารย์ประจำบ้านกริฟฟินดอร์อยู่ และ 1 ในนั้นก็มีภาพเหมือนของ มิเนอร์ว่า มักกอนนากัล สมัยสาวๆด้วย

– ในห้องนั่งเล่นหอกริฟฟินดอร์มีภาพพรมปักผนังชื่อว่า ‘The Lady and the Unicorn’ ซึ่งทีมงานแผนกตกแต่งฉากเลือกมาให้เหมาะกับภาพลักษณ์ยุคกลาง

ห้องทำงานของดัมเบิลดอร์

– ในห้องทำงานของอาจารย์ใหญ่จะมีภาพเหมือนของบรรดาอาจารย์ใหญ่ของฮอกวอตส์ทั้งหมด 48 รูป

– หนังสือของดัมเบิลดอร์บนตู้ทั้งหลายจริงๆแล้วคือสมุดโทรศัพท์ที่เอาปกหนังมาหุ้มไว้อีกที

– ในตู้เก็บขวดแก้วบรรจุความทรงจำของดัมเบิลดอร์มีขวดแก้วทำมือมากกว่า 800 ขวด

ห้องเรียนปรุงยา

– ลวดลายคำจารึกบนขอบเพดานโค้งในห้องเรียนปรุงยาเป็นการเขียนผสมคำกันระหว่างภาษาละตินและภาษาอังกฤษ โดยเป็นชื่อของพวกส่วนผสมในการปรุงยาและแร่ธาตุหายาก ซึ่งคำทั้งหลายเอามาจากสูตรการเล่นแร่แปรธาตุสมัยโบราณ

– อุปกรณ์ปรุงยาในห้องเรียนวิชาปรุงยาบางส่วนคือ กระดูกสัตว์ที่ถูกเผาซึ่งซื้อมาจากร้านขายเนื้อ ใบไม้แห้ง และสมุนไพร

กระท่อมของแฮกริด

– สังเกตหรือไม่ว่ากระท่อมของแฮกริดในช่วงภาค 1-2 กับช่วงภาค 3 มีการเปลี่ยนแปลง โดยในภาค 3 มีการเพิ่มห้องต่อเติมอีกและแปลงฟักทองด้วย

– ในหนัง ส่วนของกระท่อมของแฮกริดมีของตกแต่งมากมาย 1 ในนั้นคือ กรงที่ใส่สัตว์จริงๆ ไว้ด้วย เช่น แมวไร้ขน ค้างคาวผลไม้ หรือแม้กระทั่งไข่นกกระจอกเทศ

– ทีมงานเสื้อผ้าออกแบบชุดของแฮกริดให้เหมาะกับแฮกริดที่สูง 6ฟุต 10 นิ้วซึ่งจริงๆ แล้วตามในหนังสือแฮกริดต้องสูงกว่านี้มาก

บ้านครอบครัววีสลีย์

– ทีมงานสร้างพร็อพได้นาฬิกาแบบตั้งมาจากการประมูล และเอามาออกแบบดัดแปลงเสริมอีก เช่น ลูกตุ้มนาฬิกา เข็มนาฬิกา

– ทีมงานสเปเชียลเอฟเฟกต์สร้างกลไกของใช้ในบ้านบางส่วนให้ขยับเองได้ และ 1 ในนั้นคือ กระทะที่ล้างเองได้

กระทรวงเวทมนตร์

– ฉากตัวหอคอยออฟฟิศในกระทรวงได้รับแรงบันดาลใจมาจากตึกในลอนดอนสไตล์วิคตอเรียนยุคศตวรรษที่ 19 และผนังภายนอกตัวหอที่เห็นเป็นสีแดงกับสีเขียวก็ทำมาจากไม้

– ฉากเตาผิงของกระทรวงเวทมนตร์สูงมากกว่า 9 เมตร

– รูปปั้น ‘เวทมนตร์คืออำนาจ’ สร้างจากโฟม และใต้ฐานรูปปั้นหลักนี้มีรูปปั้นมักเกิ้ล 58 รายถูกทับ

– ของตกแต่งในห้องทำงานของอัมบริดจ์ ทีมงานตกแต่งฉากหาของมาได้จากร้านเฟอร์นิเจอร์มิดเดิ้ลอีสต์เทิร์นที่อยู่ในย่านลอนดอนตอนเหนือ

ตรอกไดแอกอน

– รูปแบบดีไซน์ถนนดั้งเดิมของตรอกไดแอกอนเกิดจากการรวมเอาข้อมูลจากหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ และแรงบันดาลใจจากรูปแบบถนนในงานเขียนของชาร์ลส์ ดิกเก้นส์

– มีผลิตภัณฑ์ออกแบบเฉพาะสำหรับสินค้าของเฟร็ดกับจอร์จจำนวน 120 ชิ้นในร้านเกมกลวิเศษวีสลีย์

– บริเวณหน้าร้านเกมกลวิเศษวีสลีย์ใช้เวลาในการสร้างมากกว่า 3 เดือน (ซึ่งเวลาส่วนใหญ่มักต้องใช้ไปกับการสร้างหุ่นฝาแฝดขนาด 20 ฟุตยืนเปิดหมวกหน้าร้าน) โดยถูกดีไซน์ออกมาให้เหมือนร้านค้าในยุคศตวรรษที่ 18

– ในร้านโอลลิแวนเดอร์มีกล่องไม้กายสิทธิ์มากกว่า 17,000 กล่อง

ปราสาทฮอกวอตส์

– โมเดลปราสาทฮอกวอตส์ในสตูดิโอถูกสร้างในขนาดอัตราส่วน 1:24 และแกะสลักด้วยมือจากแบบร่างแรกที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ฝ่ายการสร้าง สจ๊วต เคร็ก และมีการติดตั้งไฟแบบไฟเบอร์ออปติกมากกว่า 300 ดวงไว้ในปราสาทด้วย รวมถึงในส่วนของบริเวณปราสาทมีการใช้หินและต้นไม้จริงประกอบตกแต่ง

– ในภาค 1 มีทีมนักงานนักออกแบบ 86 คนและทีมงานส่วนอื่นๆสร้างปราสาทฮอกวอตส์รุ่นแรก

– ทีมงานสร้างแปลนโมเดลไซส์เล็กในส่วนของลานปราสาทที่อ้างอิงจากสถานที่จริงอย่างปราสาทอันนิคและวิหารเดอแรม

– วิวทิวทัศน์รอบปราสาทได้แรงบันดาลใจมาจากสถานที่ทางธรรมชาติในแถบไฮแลนด์ของประเทศสก็อตแลนด์ รวมถึงสถานที่ เช่น Glen Nevis, Glen Coe และ Loch Shiel

ของวิเศษ

– ผ้าคลุมล่องหนมีลวดลายสัญลักษณ์เคลติกและตัวอักษรรูนโบราณ

– ตัวดาบกริฟฟินดอร์ถูกซื้อมาและทีมงานมาออกแบบทำด้ามจับใหม่อีกที

– เมื่อถ่ายทำหนังจบทุกภาค สุดท้ายของที่ทีมงานแผนกทำพร็อพก็มีของเก็บไว้ในโกดังขนาดใหญ่ตั้ง 5 โรงเก็บ โดยมีของ เช่น เฟอร์นิเจอร์ 5,000 ชิ้น, หนังสือทำมือ 12,000 เล่ม, สินค้าร้านเกมกลวิเศษวีสลีย์ 40,000 ชิ้น

– ถ้วยอัคนีแกะสลักมาจากลำต้นไม้เอล์ม และมีความสูงกว่า 5 ฟุต

– ทีมงานออกแบบได้สลักสุภาษิต 2 ประโยคไว้ลงบนเครื่องย้อนเวลาคือ ‘I mark the hours every one, nor have I yet outrun the sun.’ กับ ‘My use and value unto you depend depends on what you have to do.’

– ก่อนที่เราจะได้เห็นถ้วยตักน้ำคริสตัลที่แฮร์รี่ใช้ตักน้ำยาให้ดัมเบิลดอร์ดื่มในฉากถ้ำ ทีมงานออกแบบพร็อพถ้วยตักน้ำคริสตัลต้นแบบไว้ 50 ใบ

– ทีมงานออกแบบพร็อพเอาขวดน้ำหอมสไตล์ยุควิคตาเรียนเก่ามาดัดแปลงทำเป็นดีลูมิเนเตอร์ของดัมเบิลดอร์ที่เราเห็นกัน

– ทีมงานแผนกกราฟิกออกแบบหนังสือพิมพ์เดลี่พรอเฟ็ตกว่า 40 ฉบับมาใช้ในหนัง โดยในตัวหนังสือพิมพ์นอกจากจะมีข่าวแล้วยังมีเนื้อหาเช่น โฆษณา, ดูดวง, เกมรูโนคุ (Runoku)

– นิตยสารเดอะ ควิบเบลอร์ ถูกออกแบบเนื้อหา พาดหัวเรื่อง และรูปภาพเฉพาะมากมายหลายฉบับ โดยรวมแล้วมากกว่า 25,000 หน้า

– มีการทำไม้กายสิทธิ์มากกว่า 3,000 ไม้ที่ใช้ถ่ายทำในเรื่อง โดยผสมกันหมดไม่ว่าจะเป็น ไม้, พลาสติก, เรซิ่น, ยาง

– ไม้กายสิทธิ์ในช่วงแรกที่ทีมงานออกแบบไว้จะหรูหรามีประดับเพชรด้วย แต่เจเคแนะนำทีหลังว่าควรจะเป็นไม้และสะท้อนให้เห็นคุณลักษณะผู้ใช้ด้วย

– หน้ากากผู้เสพความตายแต่ละชิ้นออกแบบโดยทีมงานคอนเซพท์อาร์ตทิสท์ และผู้กำกับเดวิด เยทส์เป็นผู้เลือกแต่ละชิ้นอีกที

– ทีมงานสเปเชียลเอฟเฟกต์สร้างรถในห้องนิรภัยที่กริงกอตส์เอง โดยให้รถคันนี้หมุนขึ้น ลง และรอบๆได้ 6 ทิศทาง

– ทีมงานสเปเชียลเอฟเฟคท์ดัดแปลงรถมอเตอร์ไซค์รุ่น 1960 Royal Enfield ทั้งหมด 7 คันให้เป็นรถมอเตอร์ไซค์ของซิเรียส

– รูปแบบไม้กวาดไฟร์โบลต์ออกแบบมาจากตัวไม้วอลนัตที่ขรุขระ โดยปลายไม้เป็นผิวเรียบ

– มีการใช้รถฟอร์ดแองเกลียทั้งหมด 18 คัน (รวมคันที่ถูกหั่นครึ่งแล้ว) ในหนังภาค 2

– ทีมงานได้แรงบันดาลใจสไตล์หลุมฝังศพตระกูลริดเดิ้ลจากสุสานไฮเกตที่ย่านลอนดอนตอนเหนือ

– รถเมล์อัศวินมีความสูงประมาณ 22 ฟุต

– ทีมงานสร้างรถเมล์อัศวินมา 2 แบบ โดยแบบแรกจะขับได้ ส่วนแบบที่สองใช้เป็นสตั๊นท์ในฉากที่ต้องหมุน

– สะพานไม้ที่ฮอกวอตส์ที่เห็นยาวๆนั่น ที่จริงถูกสร้างไว้แค่ส่วนสั้นๆ แล้วทีมงานวิช่วลเอฟเฟกต์ใช้คอมแต่งฉากอีกที

– ในหนังภาค 7.2 มีการสร้างเหรียญเกลเลียน ซิกเกิ้ล คนุตส์รวมกันมากกว่า 210,000 เหรียญ

สัตว์วิเศษ

– แมงมุมอาราก๊อก 18 ขาต้องใช้ทีมช่างเทคนิคเกือบ 100 คนมาช่วยกันสร้างทำระบบ

– ฟอกส์ที่เคลื่อนไหวได้ถูกสร้างมา 3 แบบคือ 1.แบบนกฟีนิกซ์แก่ขนร่วง 2.แบบนกฟีนิกซ์แรกเกิดจากเถ้า 3.แบบนกฟีนิกซ์โตเต็มวัย

– บัคบีคถูกสร้างมาในขนาดจริง 3 แบบคือ 1.แบบท่ายืนปกติ 2.แบบท่ายืนด้วยขาหลัง 3.แบบท่านอน

– ทีมงานเมคอัพเอฟเฟกต์ทำหน้ากากซิลิโคน 7 ชิ้นให้ตัวละครเกรย์แบ็ก โดยขนบนหน้ากากที่เห็นทำมาจากขนแพะ

นักแสดงสัตว์

– นกฮูกที่แสดงบทเฮ็ดวิกมี 4 ตัว

– หนูที่แสดงบทสแคบเบอร์มีมากกว่า 12 ตัว และทีมงานยังสร้างหนูหุ่นยนต์มาเสริมด้วย

– แมวพันธุ์เปอร์เซียขนแดงที่แสดงบทครุกแชงก์มี 4 ตัว และเพื่อให้ขนแมวดูพองฟูเยอะๆ ทีมงานถึงกับเอาขนปลอมมาใส่ให้แมวแล้วเอากิ๊บติดผมมาหนีบไว้

– หมาพันธุ์เนโพลิแทน มาสทิฟที่แสดงบทเขี้ยวมี 9 ตัว และ 1 ในนั้นชื่อ มังกี้ ‘Monkey’